!-- AdAsia Headcode -->

ผู้ชายฆ่าตัวตายสูงสุดร้อยละ 80 ปัญหาความน้อยใจ ถูกดุด่าตำหนิ การทะเลาะกับคนใกล้ชิดขึ้นแท่นอันดับ 1

10 กันยายน 2562, 16:08น.


            มนุษย์เลือกจบปัญหาชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย แต่ละคนล้วนแล้วแต่มีสาเหตุแตกต่างกันออกไป และเพื่อให้เราเข้าใจ รับฟังผู้ที่มีความเสี่ยงฆ่าตัวตาย ให้มีกำลังใจในการใช้ชีวิตต่อไป กรมอนามัยโลกจึงได้กำหนดให้ทุกวันที่ 10 กันยายน ของทุกปี เป็น “วันป้องกันการฆ่าตัวตาย” ในปีนี้เราจึงนำข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย วิธีสังเกตและป้องกันผู้ที่มีความเสี่ยงมาฝาก

            การฆ่าตัวตายจัดเป็นความรุนแรงทางด้านสุขภาพจิต และจิตเวชที่นำผู้คนไปสู่การเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ซึ่งการฆ่าตัวตายในแต่ละครั้งมีทั้งฆ่าตัวตายสำเร็จ และพยายามฆ่าตัวตายมากกว่า 20 ครั้ง แสดงให้เห็นว่าปัญหาฆ่าตัวตายนั้นสามารถป้องกันได้ ถ้ามีความตระหนักและเหยื่อผู้รอดชีวิตได้รับการช่วยเหลือทันท่วงที



            โดยปัญหาการฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นในประเทศไทยปี 2561 มีคนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จ 4,137 คน



            - แบ่งเป็นชาย 3,327 คน (คิดเป็นร้อยละ 80) เป็นหญิง 810 คน (คิดเป็นร้อยละ 20)



            - จำแนกเป็นวัยแรงงาน ช่วงอายุ 25-59 ปี ฆ่าตัวตายสำเร็จสูงสุดร้อยละ 74.7 รองลงมาเป็นวัยสูงอายุ ตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 22.1 และวัยเด็ก อายุ 10-24 ปี ร้อยละ 3.2 ตามลำดับ



            - นอกจากนี้ ยังพบจำนวนผู้ที่ทำร้ายตนเองจนเสียชีวิต เฉลี่ยอยู่ที่ 345 รายต่อเดือน และมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จเฉลี่ยวันละประมาณ 11-12 ราย

            ปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาฆ่าตัวตายสำเร็จ



            1.ปัญหาด้านความสัมพันธ์ : ความน้อยใจ ถูกดุด่าตำหนิ การทะเลาะกับคนใกล้ชิด พบร้อยละ 48.7, ความรัก หึงหวง พบร้อยละ 22.9 และต้องการคนใส่ใจ ดูแล พบร้อยละ 8.36



            2.ปัญหาด้านการใช้สุราและยาเสพติด : ปัญหาการดื่มสุรา พบร้อยละ 19.6 และมีอาการมึนเมาระหว่างทำร้ายตนเอง พบร้อยละ 6



            3. ปัญหาด้านการเจ็บป่วยทางจิต : ภาวะโรคจิต พบร้อยละ 7.45, โรคซึมเศร้า พบร้อยละ 6.54 และมีประวัติการทำร้ายตนเองซ้ำ พบร้อยละ 12

            ทั้งนี้ การที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าวเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย และมักจะบอกถึงขั้นตอนอย่างละเอียด หลายคนอาจมองว่าเป็นการชี้นำผู้มีความเสี่ยงที่เมื่อได้ยินวิธีการจากข่าวสารตามระยะเวลา ความถี่ และปริมาณข่าวมากเกินไป ย้ำๆ ซ้ำๆ ก็จะนำไปสู่พฤติกรรมเลียนแบบ หรือฆ่าตัวตายได้ ดังนั้น สื่อจึงควรพิจารณาการนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตายตามความเหมาะสม ไม่ลงรายละเอียดวิธีการมากเกินไป ภาพที่นำเสนอก็ไม่ควรลงให้หวาดเสียว หรือเห็นพฤติกรรมผู้ที่ฆ่าตัวตาย เพื่อลดความเสี่ยงที่ทำให้เกิดการฆ่าตัวตาย

             วิธีสังเกตสัญญาณเตือนผู้ที่มีความเสี่ยงฆ่าตัวตาย


             บุคคลรอบข้าง ครอบครัว หรือคนใกล้ชิด ต้องหมั่นคอยสังเกตสัญญาณเตือนผู้ที่มีความเสี่ยงฆ่าตัวตาย คือ ผู้มีความเสี่ยงเกิดอาการเศร้า เบื่อ เซ็ง แยกตัว คิดวนเวียน นอนไม่หลับ มองโลกในแง่ลบ พูดจาด้วยน้ำเสียงวิตกกังวล หน้าตาเศร้าหมอง หรือโพสต์ข้อความเชิงสั่งเสีย ไม่อยากมีชีวิตอยู่ หมดหวังในชีวิต


               วิธีป้องกันตามหลัก 3 ส.



            1. สอดส่อง มองหา ผู้ที่มีความคิดทำร้ายตัวเอง หรือผู้ที่มีการส่งสัญญาณเตือนในการฆ่าตัวตาย



            2. ใส่ใจรับฟัง ด้วยความเข้าใจ อาจจะชวนพูดคุยให้ระบายความรู้สึก เช่น เล่าให้ฟังหน่อย ทำไมดูเธอซึมๆไปนะ โดยต้องไม่ตำหนิหรือวิจารณ์อะไร ซึ่งการรับฟังอย่างใส่ใจนั้นเป็นวิธีการที่สำคัญ และมีประสิทธิภาพมาก



            3. ส่งต่อเชื่อมโยง นั่นคือ การแนะนำให้โทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงแอพพลิเคชั่นสบายใจ (Sabaijai) หรือแนะนำให้ไปพบบุคลากรสาธารณสุขหรือช่วยเหลือพาส่งโรงพยาบาลใกล้บ้าน



ข้อมูล/รูปภาพ : กรมสุขภาพจิต



 

X