!-- AdAsia Headcode -->

คลายข้อสงสัย!! การฝังเข็มช่วยช่วยรักษาโรคได้อย่างไร

13 สิงหาคม 2562, 16:41น.


            ปัจจุบันประเทศไทยเรามีวิธีการรักษาโรคต่างๆ มากมาย ซึ่งการฝังเข็มจัดเป็นอีกวิธีการรักษาหนึ่งของศาสตร์แพทย์แผนจีนที่ได้รับความนิยมจากใครหลายๆ คน แต่ถึงอย่างไรก็ยังคงมีคนสงสัยถึงการนำเข็มเล็กๆ เรียวๆ มาจิ้มไปตามร่างกาย ใบหน้า หรือบนศีรษะ ว่าแค่นี้ช่วยรักษาโรคได้จริงๆ หรือ แล้วโรคที่รักษาได้ด้วยการฝังเข็มมีอะไรบ้าง วันนี้ พจ.ธนัตเทพ เตระทวีดุล แพทย์ประจำคลินิกการแพทย์แผนจีน ศูนย์การแพทย์มหิดลบำรุงรักษ์ ม.มหิดล วิทยาเขตนครสวรรค์ จะมาอธิบายถึงเรื่องนี้ให้เข้าใจกันมากขึ้น



              การฝังเข็มคืออะไร?



            วิธีการฝังเข็มเป็นวิธีการรักษาของศาสตร์แพทย์แผนจีนที่มีมาอย่างยาวนาน ช่วยในเรื่องของการปรับสมดุลร่างกายให้สามารถกลับมาเป็นปกติได้ดังเดิม ซึ่งการฝังเข็มจะช่วยลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อมัดต่างๆ เนื่องจากเราได้จิ้มเข็มลงไปกระตุ้นให้กล้ามเนื้อที่แข็ง เกร็งจากการใช้งานในชีวิตประจำวันอยู่ ให้คลายตัวลงอย่างน่าอัศจรรย์ใจ ทั้งนี้ ในร่างกายของคนเรายังมีลมปราณ (ชี่กง) เคลื่อนไหวเพื่อเป็นตัวผลักดันให้อวัยวะที่สำคัญ เช่น หัวใจ ปอด ลำไส้ ตับ ฯลฯ ทำงานได้ดี เส้นลมปราณทั้งหมดในร่างกายจะสื่อไปถึงอวัยวะต่างๆ โดยมีเส้นทาง มีตำแหน่งในการวิ่งที่ชัดเจน ช่วยให้อวัยวะนั้นๆทำงานได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น



              ตกลงแล้วการฝังเข็มช่วยบำบัด รักษาโรคใดได้บ้าง

            ในประเทศไทยการฝังเข็มจะเน้นรักษาในเรื่องของอาการนอนไม่หลับ ปวดหัว ปวดเมื่อยตามร่างกาย โรคออฟฟิศซินโดรม ระบบอาหารไม่ย่อย หรือการรักษาอื่นๆ เช่น กลุ่มระบบประสาท อย่างผู้ที่เป็นโรคอัมพฤกษ์ – อัมพาต ที่แขนขาไม่มีแรง ไม่สามารถยกขึ้นเองได้ ผู้ที่เป็นโรคสโตรก (โรคหลอดเลือดสมองอักเสบ) ที่แขนขาอ่อนแรง



            วิธีการตรวจวินิจฉัยในศาสตร์การแพทย์แผนจีน

          สำหรับวิธีการตรวจวินิจฉัยของแพทย์แผนจีนจะใช้ 4 วิธี ในการประเมินอาการ คือ การมอง การได้กลิ่น การถาม และการจับชีพจร



           - การมอง : แพทย์จะมองดูคนไข้ตั้งแต่เดินเข้ามาในห้องตรวจว่ามีอาการเป็นอย่างไร สีหน้าแววตาเป็นแบบไหน



           - การได้กลิ่น : แพทย์จะมีการดมกลิ่นของคนไข้ผ่านลดหายใจขณะพูดคุย เพื่อตรวจสอบระบบย่อยอาหาร การขับถ่าย (หากไม่ดีจะมีกลิ่นปากที่เหม็น)



           - การถาม : แพทย์จะซักถามประวัติคนไข้ ซักถามอาการ หรือวิถีชีวิตว่าในชีวิตประจำวันทำอะไรบ้าง



           การจับชีพจร : แพทย์จะจับชีพจรทั้ง 2 ข้าง (แบบจีน) เพื่อดูการเต้นของชีพจรว่าเป็นลักษณะไหน ช้า เร็ว ตื้น ลึก รวมไปถึงการจับฝ่ามือ หรือร่างกาย เพื่อให้รู้ถึงอุณหภูมิของเราในขณะนั้น



              วิธีรักษาด้วยการฝังเข็ม

            เมื่อแพทย์พบว่าเรามีอาการเกิดขึ้นที่บริเวณใดก็จะรักษาบริเวณนั้นๆ ก่อน โดยมีวิธีการ ดังต่อไปนี้



           ใช้เข็มที่สะอาด เล็กจิ๋ว ปักไปตามจุดของเส้นลมปราณ



            โดยให้ผู้ที่ต้องการรักษานั่ง นอน หรืออยู่ในท่าที่สบายๆ ใช้เวลาประมาณ 20-30 นาที ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย



            - ตำแหน่งที่ฝังเข็ม หากฝังที่ศีรษะ จะช่วยเรื่องการมีสมาธิ ให้หลับง่ายขึ้น หากฝังที่บริเวณแขนทั้ง 2 ข้าง ก็จะช่วยเรื่องการนอนหลับ และระบบย่อยอาหาร



           ภายหลังจากการฝังเข็มจะมีการใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าด้วยกระแสไฟฟ้าที่พอดีเพื่อช่วยให้ลมปราณในร่างกายทำงานได้ดีขึ้น ส่วนผู้ที่เป็นโรคอัมพฤกษ์ – อัมพาต โรคสโตรก แพทย์จะใช้กระแสไฟอ่อนๆ กระตุ้น





            นอกจากนี้ แพทย์ยังมีการใช้ยาจีนที่ได้จากพืชสมุนไพรรักษาร่วมด้วย โดยพืชสมุนไพรต่างๆ จะได้มาตั้งแต่ รากไม้ ลำต้น กิ่งไม้ หรือผล ซึ่งแต่ละส่วนก็จะมีสรรพคุณแตกต่างกันไป ทั้งนี้ ทางศูนย์การแพทย์มหิดลบำรุงรักษ์มีแผนกแพทย์แผนจีน การฝังเข็ม ครอบแก้ว รวมถึงจ่ายยาสมุนไพรจากบุคลากรที่เป็นแพทย์แผนจีนโดยเฉพาะ ดังนั้น สำหรับใครที่สนใจอยากรักษาด้วยวิธีเหล่านี้สามารถเข้าพบแพทย์ได้



ข้อมูล/รูปภาพ : Mahidol Channel



 



 



 





 

X