!-- AdAsia Headcode -->

ระบบเบรก ABS เพื่อความปลอดภัยของคนไทยจริงหรือไม่ แล้วเราต้องจ่ายเท่าไหร่

13 สิงหาคม 2562, 11:32น.


     องค์กรอนามัยโลกระบุว่า ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก อัตราการเสียชีวิตร้อยละ 32.7 ต่อแสนประชากร หรือเฉลี่ยปีละ 22,491 คน ร้อยละ 74 เป็นผู้ขับขี่จักรยานยนต์ 2-3 ล้อ ในขณะที่รายงานสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนนที่จัดทำโดยแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) ปี 2557 ระบุว่ามีผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนนทั้งสิ้น 1,128,384 คน  เสียชีวิต 21,429 คน  บาดเจ็บสาหัส 142,136 คน และบาดเจ็บเล็กน้อย 964,819 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กและเยาวชนประมาณครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 51.22) ซึ่งอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์เป็นสาเหตุของการบาดเจ็บถึงร้อยละ 86.62 และเสียชีวิตร้อยละ 74.31



     สาเหตุทำให้เกิดอุบัติเหตุหนึ่งในปัจจัยเกิดจากตัวบุคคลเอง โดยสาเหตุจากการไม่ให้สัญญาณจอดรถ การเลี้ยว การชะลอตัว การขับรถตัดหน้ากระชั้นชิด หรือการหยุดรถกะทันหัน จากข้อมูลอุบัติเหตุในเทศกาลสงกรานต์ปี 2561 ของกรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัยที่รายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าอุบัติเหตุจากการตัดหน้า คิดเป็นร้อยละ 20.5 ของอุบัติเหตุ ทำให้เห็นว่าการเบรกในกรณีฉุกเฉินและสภาพแวดล้อมบนถนนที่มีความลื่นมีความสำคัญต่อการเกิดอุบัติเหตุ และตัวเลขโดยประมาณของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ถนนลื่นหรือมีผู้ตัดหน้ามีจำนวน 2,673-3,653 คน บาดเจ็บ 149,505-204,323 คนต่อปี ซึ่งหากเรามีระบบการเบรกที่มั่นใจ ที่จะช่วยลดปัญหานี้ลงได้



     โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้วิเคราะห์ให้เห็นว่า ปี 2560 มียอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ 1.8 ล้านคัน หากมีกฎหมายบังคับให้ติดระบบเบรก ABS ทุกคัน จะลดอุบัติเหตุได้ร้อยละ 26-39 ลดการเสียชีวิตปีละ 401-602 คน ลดการบาดเจ็บสาหัสปีละ 2,661-3,991 คน ลดการบาดเจ็บเล็กน้อยปีละ 18,061-27,092 คน คิดเป็นมูลค่า 10,211-15,316 ล้านบาท

     “แล้วคนไทยจะจ่ายไหวไหม ในภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง” ในปัจจุบันระบบเบรก ABS ในรถจักรยานยนต์มีขนาดเพียงฝ่ามือ และผู้ผลิตรายใหญ่มีนโยบายออกแบบเทคโนโลยีให้เหมาะสมกับขนาดรถ ในการทำให้ราคาถูกลงไปตามสัดส่วน เพื่อใช้ได้กับจักรยานยนต์ทุกคัน ในประเทศอินเดียเริ่มมีการออกกฎหมายบังคับให้รถจักรยานยนต์ขนาด 125 CC. ขึ้นไป ติดตั้งระบบเบรก ABS ทุกคันในปี 2018 พบว่ารถจักรยานยนต์ยี่ห้อหนึ่งเพิ่มราคาที่ติดตั้ง ABS เพียง 7,000 India Rupee หรือเท่ากับเงินไทย 3,091 บาท



     หากมองโดยทั่วไปผู้ซื้อรถจักรยานยนต์ในไทยมักจะซื้อแบบเงินผ่อน ซึ่งจะผ่อนจ่ายในระยะเวลา 12-60 เดือน ยกตัวอย่างรถจักรยานยนต์ยี่ห้อหนึ่งจ่ายเดือนละ 616 – 2,086 บาท ดังนั้นหากติดตั้งระบบเบรก ABS เราจะจ่ายเพิ่มขึ้นเดือนละ 60-280 บาทหรือคิดเป็นวันละ 2-9 บาท ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประสิทธิภาพความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้น ถือว่ามีความคุ้มค่า
X