!-- AdAsia Headcode -->

หยุดอ่านสักนิด!! “ยาชุด” ไม่ใช่ยารักษาทุกโรค หากซื้อมากินเองอาจเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อชีวิตได้

12 กรกฎาคม 2562, 11:40น.


            ใกล้ถึงวันหยุดยาวแล้ว หลายๆ ท่านคงจะเตรียมแผนการเดินทางไกลไปตจว. เช่น กลับบ้าน หรือพักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งบางท่านอาจมีโรคประจำตัวและกลัวว่าจะเจ็บป่วยฉุกเฉินได้ ทำให้ตัดสินใจไปซื้อยาชุดมาไว้กินเองหวังช่วยยับยั้งการเกิดอาการของโรคที่เป็นอยู่ระหว่างเดินทาง หรือซื้อมาเก็บไว้กินในเวลาต่างๆ เพียงเพราะกินไม่กี่ครั้งอาการเจ็บป่วยก็มลายหายไป แต่การซื้อยาชุดไว้กินเองนั้นมีอันตรายแฝงอยู่มาก ซึ่งจะเป็นอันตรายอย่างไรไปดูกัน

            อันตรายถึงชีวิต อย่าคิดใช้ “ยาชุด”

            ว่าด้วยเรื่องของยาชุด ยาที่ใครๆ ต่างก็คิดว่าเป็นยาวิเศษ กินครั้งละ 4-5 เม็ด อาการเจ็บป่วยหาย!! ซึ่งยาชุดมักจะมีฉลากหรือการโฆษณาที่โอ้อวดสรรพคุณรักษาโรคได้สารพัด โดยเฉพาะโรคประจำตัวที่เป็นเรื้อรัง อย่าง โรคกระดูกพรุน โรคเบาหวาน โรคกระดูกและข้อ รวมถึงโรคหรืออาการที่เป็นกันอยู่ประจำ อย่าง โรคหวัด ปวดเมื่อย เส้นยึด กินไปไม่กี่ครั้ง เผลอๆ ครั้งเดียว อาการเจ็บปวด เจ็บป่วยที่เป็นก็หายพลัน แถมยังหาซื้อง่ายอีกด้วย แต่จริงๆ แล้วในยาชุดมียาสเตียรอยด์ผสม ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้

            ยาชุดทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายใดบ้าง?


              "ยาชุด" ไม่ใช่ยาที่จะรักษาอาการเจ็บป่วย หรือเจ็บปวดได้ โดยผลข้างเคียงเมื่อตัดสินใจเลือกใช้ยาชุดแทนการไปพบแพทย์ หรือเภสัชกร คือ เนื่องจากในยาชุด 1 ชุด มีตัวยาหลากหลาย บางชนิดอาจออกฤทธิ์รุนแรง ซึ่งผู้ที่กินก็ไม่ทราบว่าควรกินในช่วงไหน เวลาใด ทำให้เกิดอาการกระเพาะทะลุ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดอาการบวมน้ำ ความดันสูง กระดูกพรุน หรือเกิดรอยปริแตกตามผิวหนังได้

            
ทั้งนี้ หากยาชุดที่ซื้อมากินเองเป็นยาชุดที่มีตัวยาซ้ำซ้อนกัน ก็จะทำให้ผู้ที่กินได้รับยาเกินขนาด หรือหากยาชุดที่ซื้อมากินเป็นยาชุดที่มีฤทธิ์ยาเสริมกัน ก็จะทำให้ผู้ที่กินเกิดอันตรายจากยาเพิ่มขึ้นได้ และขณะเดียวกันหากเป็นยาชุดที่มีตัวยาต้านฤทธิ์กัน ก็จะทำให้รักษาได้ผลไม่เต็มที่ ทางที่ดีเมื่อเกิดอาการเจ็บป่วยควรพบผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ หรือแพทย์ เภสัชกร เพื่อวินิจฉัยอาการและจ่ายยาที่ถูกต้อง นอกจากจะทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนทางอ้อมไม่ให้มียาชุดขายต่อไปอีกด้วย



 



ข้อมูล : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา



รูปภาพ : pobpad, shutterstock



 



 

X