เมื่อเวลา 07.45น. นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ฝนที่ตกลงมาช่วงเช้านี้ในพื้นที่ กทม. และ จ.สมุทรปรากการ เป็นผลที่เกิดจากธรรมชาติ ไม่ได้เกิดจากฝนหลวง เพราะฝนหลวงที่จะทำวันนี้เพิ่งอยู่ในขั้นตอนการปล่อยบอลลูนขึ้นไปตรวจอากาศเมื่อเวลา 07.00 น. และจะได้ผลตรวจเวลา 08.00 น. เป็นการดูทิศทางลมก่อนจะเริ่มวางแผนว่าจะส่งเครื่องบินไปบริเวณไหน และความสูงเท่าไร ถ้าแนวโน้มเอื้ออำนวย และเป็นไปในแนวทางที่ดี ก็จะขึ้นบินวันนี้เลย ซึ่งผลการตรวจวัดวันนี้คิดว่าเป็นไปทางบวก
สำหรับขั้นตอนปฏิบัติการทำฝนหลวงนั้นต้องบอกว่าไม่ง่ายเลย! ทีมข่าว JS100 รวบรวมมาให้ได้อ่านกัน มีด้วยกัน 3 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 ก่อกวนให้เกิดเมฆ เป็นการกระตุ้นให้ความชื้นหรือไอน้ำรวมตัวเป็นกลุ่ม เพื่อใช้เป็นแกนกลางในการสร้างกลุ่มเมฆฝน วิธีการ คือ โปรยสารเคมีที่ก่อให้เกิดกระบวนการกลั่นตัวของไอน้ำในอากาศ ได้แก่ เกลือแกง บนความสูงประมาณ 7,000 ฟุต ความชื้นหรือไอน้ำจะดูดซับเข้าไปเกาะรอบแกนเกลือ แล้วรวมตัวกันเป็นเมฆ จากนั้นจะพัฒนาเป็นเมฆก้อนใหญ่บนสูง 10,000 ฟุต
ขั้นตอนที่ 2 เลี้ยงเมฆให้อ้วน เป็นการเพิ่มแกนเม็ดไอน้ำให้กลุ่มเมฆฝนให้มีความหนาแน่นขึ้น โดยใช้สารเคมีผงแคลซียมคลอไรด์โปรยเข้าไปที่กลุ่มเมฆที่มีความสูงประมาณ 8,000 ฟุต หรือสูงกว่าฐานเมฆประมาณ 1,000 ฟุต ขั้นตอนนี้จะเร่งการกลั่นตัวของไอน้ำ ทำให้เมฆใหญ่ก่อยอดสูงขึ้นในระดับ 15,000 - 20,000 ฟุต
ขั้นตอนที่ 3 โจมตี เป็นการเร่งหรือบังคับให้เกิดฝน เมื่อฐานเมฆลดระดับต่ำลงประมาณ 1,000 ฟุต และเคลื่อนตัวใกล้เข้าสู่พื้นที่เป้าหมาย โดยบังคับให้ฝนตกด้วยโปรยผงโซเดียมคลอไรด์ (NaCl) ทับยอดเมฆ หรือไหล่เมฆที่ระดับไม่เกิน 10,000 ฟุต และโปรยผงยูเรีย (Urea) ที่ระดับฐานเมฆด้านใต้ลม ซึ่งจะทำให้ฝนตกในที่สุด
อย่างไรก็ตาม ทุกขั้นตอนจะต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์ในการตัดสินใจที่จะเลือกใช้ปริมาณสารเคมีอย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงสภาพภูมิอากาศภูมิประเทศ ทิศทางและความเร็วของลม ตลอดจนกำหนดบริเวณหรือแนวพิกัดที่จะโปรยสารเคมี
ข้อมูลจาก : กรมฝนหลวงและการบินเกษตร
ภาพจาก : Koratstartup unlockmen studio7thailand