เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มีการบรรจุ ‘อาการติดโชเซียล’ เป็นโรคทางจิตเวชประเภทหนึ่ง ที่ต้องได้รับการวินิจฉัยและบำบัด สำหรับคนที่ใช้สื่อประเภทนี้เป็นประจำเมื่อได้ยินแล้วอาจคิดว่าเรื่องนี้ออกจะเกินเลยไปบ้าง แต่ลองตั้งใจฟังอีกสักหน่อย....
จากการศึกษาผลกระทบจากการติดโซเชียลมีเดีย พบว่า เจ้าสิ่งนี้ทำให้คนเสพติดอาหาร การชอปปิ้ง เกิดภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และมีอารมณ์แปรปรวน ซึ่งเป็นปัญหาทางสุขภาพจิต และก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมาได้ ทั้งนี้ได้มีการแบ่งอาการติดโซเชียลเป็น 3 ประเภท คือ ติดสาระ เช่น ติดเกม ติดพนัน , ติดสัมพันธุ์ เช่น ติดเฟซบุ๊ก และติดอุปกรณ์ เช่น ติดรุ่น – ยี่ห้อของสมาร์ทโฟน แล้วคุณล่ะจัดอยู่ในประเภทไหน
ทำไมคนถึงติดโซเชียล ?
นาวาอากาศตรีนายแพทย์ บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กเกือบ 600 ล้านคนทั่วโลก หรือประมาณ 10 ล้านคนในไทย มีสถิติการใช้งานทุก ๆ 20 นาที อัพโหลดรูปถ่ายมากกว่า 3.7 ล้านรูป แชร์ลิงก์ และอัปเดตสเตตัสมากกว่าล้านข้อความ โดยเหตุผลสำคัญที่ทำให้คนทั่วโลกติดโซเชียลมากขึ้น คือ การไม่อยากอยู่อย่างโดดเดี่ยว ความต้องการมีตัวตน โหยหาการยอมรับจากสังคม และอยากรู้อยากเห็นเรื่องคนอื่น
คนในแต่ละช่วงวัยได้รับผลกระทบอะไรจากการติดโซเชียลมีเดียบ้าง ?
ใน กลุ่มเด็กก่อนวัยเรียน จะพบปัญหาเด็กมีสมาธิสั้น สูญเสียทักษะการเข้าสังคม การเรียนรู้จากการลงมือทำ กลุ่มวัยเรียน พบปัญหาความรุนแรง โรคอ้วน สายตาสั้น ผลการเรียนลดลง และใน กลุ่มวัยรุ่น เราจะพบปัญหาการรังแกกันผ่านโซเชียล การล่อลวงทางเพศ รวมถึงค่านิยมบางอย่างที่หมิ่นเหม่ต่อศีลธรรม ทั้งนี้ทางกรมสุขภาพจิตได้แนะนำหลักการเพิ่มภูมิคุ้มกันการใช้อินเตอร์เน็ตในครอบครัว เพื่อให้เกิดความตระหนัก รู้เท่าทันผลเสียที่ตามมา โดยได้เสนอ หลัก ‘3 ต้อง 3 ไม่’ เป็นแนวทางปฏิบัติ คือ ต้องกำหนดเวลา กำหนดรายการ ต้องเล่นกับลูก และ ไม่ใช้อินเตอร์เน็ตในห้องนอน ในเวลาที่เป็นเวลาของครอบครัว และพ่อแม่จะต้องไม่เป็นแบบอย่างที่ผิด
อาจกล่าวได้ว่าวิธีที่ดีที่สุดที่ช่วยให้ลูกหรือคนในครอบครัวไม่ติดโซเชียล คือ การให้เวลา การดูแลเอาใจใส่ เราจะเห็นพ่อแม่หลายคนมักให้ลูกใช้สมาร์ทโฟนได้ทั้งที่ยังไม่ถึงวัยที่เหมาะสม ซึ่งเป็นผลเสียมากกว่าดีในระยะยาว นอกจากนี้ก็ควรปลูกฝังให้เขาใช้อินเตอร์เน็ตด้วยเหตุผล เพื่อหาความรู้ หรือเพื่อเกิดประโยชน์มากกว่าเป็นเครื่องมือแก้เบื่อ เหงา หรือเพื่อความตื่นเต้น ทั้งนี้หากสงสัยว่าตัวคุณ หรือลูก ๆ มีอาการติดโซเชียล ให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญได้ที่ สายด่วนสุขภาพจิต โทร.1323
ที่มา : กรมสุขภาพจิต
ภาพจาก : .milliyet , sciencenewsforstudents , sweetyhigh