รศ.นพ.สุเทพ อุดมแสวงทรัพย์ ศัลยแพทย์ส่องกล้องและการผ่าตัดโรคอ้วน ศูนย์ผ่าตัดและรักษาโรคอ้วน โรงพยาบาลกรุงเทพ เปิดเผยว่า ‘โรคอ้วน’ โดยเฉพาะอ้วนลงพุง นำไปสู่ความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง ไขมันดีในเลือดต่ำ รวมถึงโรคหัวใจและหลอดเลือด ในสุภาพสตรีความอ้วนยังส่งผลกระทบต่อ ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome-PCOS) เป็นความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อหรือฮอร์โมนในร่างกาย โดยจะพบซีสต์หรือถุงน้ำหลายใบในรังไข่ เมื่อซีสต์หรือถุงน้ำเข้าไปเบียดรังไข่ ส่งผลให้การทำงานของรังไข่ผิดปกติ ซึ่งสาเหตุของการเกิดภาวะนี้ยังไม่แน่ชัด อาจเกิดจากกรรมพันธุ์หรือความผิดปกติของหลายระบบในร่างกาย อาทิ ต่อมใต้สมอง รังไข่ ต่อมหมวกไต การมีน้ำหนักเกินเกณฑ์จึงไม่ใช่เรื่องดี โดยเฉพาะคุณผู้หญิงหากตกอยู่ในภาวะอ้วนอาจส่งผลให้มีรอบเดือนผิดปกติ
ความอ้วนมีส่วนทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนผิดปกติโดยเฉพาะการอ้วนลงพุง เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนผลิตจากไขมัน เมื่อไขมันมากไปการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ควบคุมการตกไข่ในเพศหญิงอาจเกิดความผิดปกติ ส่งผลให้ไม่มีการตกไข่ ประจำเดือนมาน้อยแบบกะปริบกะปรอย หรือประจำเดือนขาดหายไป ทำให้มีบุตรยากซึ่งมักพบในวัยเจริญพันธุ์อายุประมาณ 25-35 ปี หากไม่รีบรักษาอาจทำให้มีบุตรยาก เสี่ยงต่อการมีเยื่อบุโพรงมดลูกหนาผิดปกติและมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้ในอนาคต
อาการที่ผู้หญิงควรสังเกต คือ
1)ประจำเดือนเว้นช่วงนาน มาห่างกันมากกว่า 35 วัน หรือมาไม่เกิน 6 - 8 ครั้งต่อปี
2)รอบประจำเดือนขาด มาไม่ติดต่อกันนานเกิน 3 รอบ เทียบกับผู้หญิงที่ประจำเดือนมาสม่ำเสมอ หรือมาไม่ติดต่อกัน 6 เดือนในผู้หญิงที่ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ แสดงถึงภาวะไม่ตกไข่เรื้อรัง
3)ประจำเดือนมากะปริบกะปรอย มามากเกินไป นานเกินไป อาจเกิดเยื่อบุโพรงมดลูกหนาผิดปกติ
4)ภาวะแอนโดรเจน (Androgen) เกิน คือ ฮอร์โมนเพศชายที่มีอยู่ในร่างกายทั้งของผู้ชายและผู้หญิง เมื่อผู้หญิงมีมากเกินไป ทำให้เกิดภาวะขนดก สิวขึ้นมากกว่าปกติ ผิวมัน ศีรษะล้าน
5)อ้วน น้ำหนักเกินมาก ทำให้ดื้อต่อน้ำตาลอินซูลิน เพิ่มอาการของภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS) ได้ ความรุนแรงของภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบหากไม่รีบรักษา อาจส่งผลให้มีบุตรยาก หรือเพิ่มความเสี่ยงการหนาตัวของเยื่อบุโพรงมดลูก เสี่ยงมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกและมะเร็งเต้านม
วิธีรักษา คือ ลดความอ้วน ควบคุมน้ำหนัก หากไม่แน่ใจควรพบแพทย์และรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว ได้แก่ รักษาดื้ออินซูลิน ลดความเสี่ยงการเกิดโรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด รักษาและป้องกันเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัว ฯลฯ ดังนั้นผู้หญิงทีมีความเสี่ยง ควรป้องกัน ด้วยการ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ เน้นผักผลไม้ เลี่ยงแป้งและอาหารไขมันสูง ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ และไม่เครียด ทำจิตใจให้แจ่มใส เพราะความเครียดทำให้ฮอร์โมนผิดปกติได้เช่นกัน
ดังนั้น "อ้วนขึ้นรึเปล่า?" คำทักเบาๆ ที่ทำให้รู้สึกเจ็บใจ ลองคิดในด้านดีว่าถือเป็นคำเตือน ให้ระวังอันตรายต่อสุขภาพรอบด้าน
ขอบคุณ ศูนย์ผ่าตัดและรักษาโรคอ้วนกรุงเทพ รพ.กรุงเทพ 1719
ภาพจาก : blog.politicsmeanspolitics , honestdocs , realnewsmagazine