รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเพชรบุรี

10 สิงหาคม 2561, 19:32น.


        บ่ายวันนี้(10 ส.ค.61) ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเพชรบุรี โดยมี ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ให้การต้อนรับและบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำปัจจุบัน ณ เขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี





        ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ (10 ส.ค.61) เขื่อนแก่งกระจานมีปริมาณน้ำในอ่างฯ 734 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 103 ของความจุอ่างฯ มีการระบายน้ำรวม 196 ลบ.ม./วินาที ปริมาณน้ำที่ระบายผ่านเขื่อนแก่งกระจาน ได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ในเกณฑ์ 210 ลบ.ม./วินาที เมื่อวันที่ 9  สิงหาคม 2561 เป็นไปตามที่กรมชลประทานคาดการณ์ไว้ แนวโน้มปริมาณน้ำเริ่มลดลง ส่วนระดับน้ำท้ายเขื่อนแก่งกระจานที่สถานี B.3 A  บ้านสองพี่น้อง อ.แก่งกระจาน ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 0.83 เมตร ปริมาณน้ำไหลผ่าน 175.15 ลบ.ม/วินาที  สถานี B.9 บ้านสารเห็ด อ.แก่งกระจาน ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 1.89 เมตร ปริมาณน้ำไหลผ่าน 187.10 ลบ.ม/วินาที  สถานี B.10 อำเภอท่ายาง ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 3.79 เมตร ปริมาณน้ำไหลผ่าน 130.50 ลบ.ม/ต่อวินาที สถานี B.16 อำเภอบ้านลาด ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 1.05 เมตร ปริมาณน้ำไหลผ่าน 118.75 ลบ.ม/วินาที  และสถานี B.15 อำเภอเมืองเพชรบุรี ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 0.67 เมตร ปริมาณน้ำไหลผ่าน 100.48 ลบ.ม/วินาที





        ส่วนสถานการณ์น้ำที่เขื่อนเพชร  ปัจจุบันบริเวณหน้าเขื่อนเพชรมีน้ำไหลผ่านประมาณ 184 ลบ.ม./วินาที กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำโดยตัดยอดน้ำบริเวณหน้าเขื่อนเพชรเข้าระบบชลประทานฝั่งซ้าย – ฝั่งขวาและคลองระบายน้ำ D.9 รวมทั้งสิ้น 70 ลบ.ม./วินาที คงเหลือปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเพชรลงสู่แม่น้ำเพชรบุรี 114 ลบ.ม./วินาที ซึ่งปริมาณน้ำนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อ อ.ท่ายาง และอ.บ้านลาด ส่วนบริเวณ อ.เมืองเพชรบุรี จะควบคุมไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เศรษฐกิจและชุมชนเมืองในเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี



        กรมชลประทาน ได้วางมาตรการในการช่วยเหลือและเร่งระบายน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี โดยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำในจุดเสี่ยงที่อาจจะมีน้ำเอ่อเข้าท่วมพื้นที่ชุมชน จำนวน 31 เครื่อง (สำรองไว้ 5 เครื่อง) ในเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี จำนวน 7 เครื่อง อำเภอเมืองรอบนอกจำนวน 19 เครื่อง และอำเภอบ้านแหลม จำนวน 5 เครื่อง และติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี เพื่อเร่งระบายน้ำในจุดที่มีการระบายน้ำได้ช้า จำนวน 38 เครื่อง (สำรองไว้ 8 เครื่อง) บริเวณวัดเขาตะเคราจำนวน 14 เครื่อง และบริเวณปากคลองระบายน้ำ จำนวน 24 เครื่อง นอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนเรือผลักดันน้ำ จากกองทัพเรือ จำนวน 20 ลำ ติดตั้งในแม่น้ำเพชรบุรี บริเวณวัดคุ้งตำหนัก อ.บ้านแหลม ช่วยระบายน้ำลงสู่ทะเลได้เร็วขึ้น พร้อมกันนี้ ยังได้เตรียมยานพาหนะและเครื่องจักรกลต่างๆ เช่น รถบรรทุก รถขุดตัก จำนวน 20 คัน ประจำอยู่ในพื้นที่ เพื่อขุดเปิดทางน้ำอีกด้วย 





        สำหรับมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่างระยะยาว นั้น กรมชลประทาน ได้ดำเนินการขุดลอกคลอง เพื่อระบายน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรีออกสู่ทะเลอ่าวไทยให้เร็วที่สุด โดยการปรับปรุงคลอง RMC3 เชื่อมคลองระบาย D9 ความยาว 27 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง มีผลดำเนินงานร้อยละ 30 และกำลังอยู่ระหว่างสำรวจออกแบบโครงการขุดลอกคลองอีก 2 เส้นทาง คือคลอง D1 ความยาว 23 กิโลเมตร และ คลอง D18 ความยาว 28 กิโลเมตร โดยจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2562



X