สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออก ประจำสัปดาห์ที่ 29 ปี 2561พบว่าปีนี้มีผู้ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก 37,793 คน เสียชีวต 45 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าปีก่อน 1.46 เท่า และมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 2,039 คน โดยส่วนใหญ่จะพบในกลุ่มคนอายุ 10-14 ปี รองลงมาคืออายุ 5-9 ปี , อายุ 15-24 ปี และเมื่อดูเป็นสัดส่วนอาชีพแล้วจะเห็นว่าผู้ป่วยสูงสุด คือ เด็กวัยเรียน หรือคิดเป็นร้อยละ 49.12 เรียกว่าโรคไข้เลือดออกในปีนี้ยังคงเป็นภัยเงียบที่มาแรง ไม่สามารถนิ่งนอนใจได้
สาเหตุและการติดเชื้อ
โรคไข้เลือดออกมีพาหะนำโรคที่สำคัญ คือ ยุงลายบ้าน และ ยุงลายสวน โดยยุงตัวเมียจะแพร่เชื้อในตอนกลางวันผ่านการกินเลือดคนเป็นอาหาร และเมื่อยุงกินเลือดคนที่มีเชื้อไวรัสไข้เลือดออก เชื้อไวรัสก็ฟักตัวในยุงประมาณ 8-10 วัน ก่อนแพร่เชื้อสู่คนอื่นต่อไป โดยคนที่ถูกกัดจะแสดงอาการภายใน 5-8 วัน หรือนานสุด 15 วัน
อาการและการแสดงออก สำหรับผู้ติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกจะมีอาการให้สังเกตุได้ ดังนี้
1. ไข่สูงลอย ผู้ป่วยทุกคนจะมีไข้ขึ้นสูงอย่างเฉียบพลัน 39-40 องศาเซลเซียส ติดต่อกัน 2-5 วัน ซึ่งบางรายอาจมีอาการชักโดยเฉพาะในเด็ก หน้าแดง คอแดง ไม่มีน้ำมูกไหลหรืออาการไอ ปวดศรีษะ ปวดเมื่อยตามตัว
2. อาการเลือดออก โดยจะมีจุดเลือดออกเล็ก ๆ กระจายอยู่ตามแขน ขา ลำตัว รักแร้ อาจมีเลือดกำเดาหรือเลือดออกตามไรฟัน ในรายที่รุนแรงอาจอาเจียนและถ่ายอุจจาระเป็นเลือดซึ่งมักจะเป็นสีดำ
3. ตับโต ส่วนใหญ่จะคลำพบตับโตได้ประมาณวันที่ 3-4 นับแต่เริ่มป่วย เนื่องจากมีไข้อยู่ตับจะนุ่ม เมื่อกดจะรู้สึกเจ็บ
4. ภาวะช็อก เกิดจากไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยจะมีอาการกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ชีพจรเบา เร็ว ความดันโลหิตต่ำ ผู้ป่วยบางรายอาจปวดท้องอย่างกระทันหันก่อนเข้าสู่ภาวะช็อก
การดูแลรักษาผู้ป่วยและป้องกัน
ปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสเชื้อไข้เลือดออก การรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการและการประคับประคองอย่างใกล้ชิด หากมีในระยะไข้สูงผู้ป่วยสามารถทานพาราเซตามอลได้ แต่ห้ามใช้ยาแอสไพริน เพราะจะทำให้ระคายกระเพาะมีเลือดออกได้ง่ายขึ้น ให้เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดา ดื่มนม น้ำผลไม้ หรือน้ำเกลือแร่น้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง และหากมีอาการไข้ลอยสูงมากกว่า 2 วัน มีอาการเบื่ออาหารมากขึ้น ไม่รับประทานอาหารหรือดื่มน้ำเลย หรือมีอาการถ่ายปัสสาวะน้อยลง ปวดท้องอย่างกะทันหัน กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
สำหรับการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก สามารถทำได้ตามขั้นตอนได้ดังนี้
1. ควบคุมสิ่งแวดล้อม เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เช่น ในบริเวณที่มีน้ำขัง บ่อน้ำนิ่ง ในแจกันดอกไม้ เป็นต้น
2. ป้องกันตัวบุคคล เช่น ใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ใช้ยากันยุง ใช้กลิ่นสมุนไพรกันยุง เป็นต้น
3. ใช้สารเคมีควบคุม เช่น ใส่ทรายอะเบทลงในภาชนะที่มีน้ำขังเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดลูกน้ำ ใช้สารเคมีพ่นเพื่อกำจัดยุงลาย
อย่างไรก็ดีจากการสำรวจแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายบ้านพบว่า ส่วนใหญ่มาจากภาชนะเก็บน้ำขังที่อยู่ในบ้านของเราเอง เช่น โอ่ง บ่อซีเมนต์ในห้องน้ำ จานรองขาตู้กันมด จานรองกระถางต้นไม้ แจกัน เศษภาชนะที่แตกหัก และยางรถยนต์เก่า ดังนั้นเพียงแค่ดูแลบ้านและชุมชนของเราให้สะอาด ปิดปากภาชนะใส่น้ำให้มิดชิด และหมั่นจำกัดลูกน้ำทุก 7 วัน แค่นั้นก็ลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกได้แล้ว
ข้อมูล : กระทรวงสาธารณสุข
ภาพจาก : homeremedies9 , presscute , articlesofhealthcare , insectcop.net