วันนี้ (11 กรกฎาคม 2561) นายจรัลธาดา กรรณสูตร องคมนตรี และคณะอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลงพื้นที่ติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมี นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีฝ่ายก่อสร้าง กรมชลประทาน นายชูชาติ รักจิตร ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง นายสมชาย คณาประเสริฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 7 นายชิตชนก สมประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับและรายงานความก้าวหน้าการขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ สำนักงานชลประทานที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี

นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีฝ่ายก่อสร้าง กล่่าวว่า โครงการแก้มลิงกุดเตอะ-กุดหวาย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลคูซอด อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ เดิมเป็นพื้นที่รับน้ำบ่าจากแม่น้ำมูล ในช่วงฤดูน้ำหลากมีปัญหาน้ำท่วมขัง ส่วนในช่วงฤดูแล้งไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ได้ เนื่องจากหนองน้ำมีสภาพตื้นเขิน โดยกรมชลประทานได้วางแผนดำเนินการขุดลอกเป็นแก้มลิงขนาดใหญ่ ก่อสร้างคันดินโดยรอบพื้นที่กุดเตอะ-กุดหวาย กิจกรรมแปลงเกษตร (บริเวณที่ทิ้งดินรอบหนองกว้างประมาณ 40.00 เมตร) ก่อสร้างอาคารระบายน้ำ จำนวน 1 แห่ง และก่อสร้างอาคารท่อรับน้ำ จำนวน 22 แห่ง โดยแบ่งการดำเนินงานเป็น 3 ระยะ ได้แก่
ระยะที่ 1 (กุดเตอะ) ดำเนินการปี 2557 - 2558 ขุดลอกแก้มลิงและแปลงเกษตร ก่อสร้างอาคารระบายน้ำ จำนวน 1 แห่ง และก่อสร้างอาคารท่อรับน้ำ จำนวน 15 แห่ง
ระยะที่ 2 (กุดหวาย) ดำเนินการปี 2560 โดยกรมการทหารช่างขุดลอกแก้มลิงและแปลงเกษตร และก่อสร้างอาคารท่อรับน้ำ จำนวน 7 แห่ง ปัจจุบันดำเนินงานไปแล้วร้อยละ 60
ระยะที่ 3 ดำเนินการปี 2563 ขุดลอกแก้มลิงกุดหวาย

เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จสามารถใช้เป็นแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร การอุปโภคบริโภค และปศุสัตว์ในเขตตำบลคูซอด อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ มีความจุกักเก็บน้ำประมาณ 1,500,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) พื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 2,000 ไร่ พร้อมทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ และช่วยรักษาระบบนิเวศอีกด้วย

โดยในช่วงบ่าย นายจรัลธาดา กรรณสูตร องคมนตรี และคณะ ได้ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานโครงการแก้มลิงกุดเตอะ-กุดหวาย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลคูซอด อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ และพบปะพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ พร้อมทั้งยืนยันว่าโครงการดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในปี 2563