เกิดเป็นประเด็นถกเถียงขึ้นมาอีกครั้ง ว่าการ'สวมเสื้อชูชีพขณะโดยสารบนเรือนั้นปลอดภัยหรือไม่?' โดยเฉพาะภาพเหตุการณ์โศกนาฏกรรมเรือล่มในทะเล จ.ภูเก็ต มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากขณะสวมเสื้อชูชีพ คำถาม คือ สวมแล้วทำไมยังเสียชีวิต ?
จุดเริ่มต้นของความเชื่อที่ผิดนี้เกิดขึ้นจากความเห็นส่วนบุคคล เมื่อเดือนกันยายน 2559 ที่มีเฟซบุ๊คเพจ กายหยาบ โพสต์ไว้เมื่อครั้งเกิดอุบัติเหตุเรือล่มกลางแม่น้ำเจ้าพระยา หน้าวัดสนามไชย เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก โดยมีเนื้อหาสำคัญระบุว่า "อย่าสวมเสื้อชูชีพบนเรือที่มีหลังคา เนื่องจากตามหลักการทางวิทยาศาสตร์เสื้อชูชีพจะดันตัวคนไปติดหลังคาเรือ ทำให้ว่ายน้ำได้ยาก โอกาสในการรอดชีวิตก็จะลดลง แนะนำให้ใช้วิธีคล้องเสื้อชูชีพไว้กับแขน และกระโดดออกมาเมื่อเรือจม"
ซึ่งขณะนั้นต่อมาไม่นาน อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า "ไม่เห็นด้วยกับความคิดดังกล่าว และย้ำว่าเป็นความเห็นส่วนตัวของผู้โพสต์เท่านั้น ไม่ใช่คำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ เพราะทุกหน่วยงานล้วนแนะนำให้ใส่เสื้อชูชีพทุกครั้งเมื่อลงเรือ ทั้งคนที่ว่ายน้ำเป็นและไม่เป็น อุบัติเหตุของการที่ 'ใส่เสื้อชูชีพแล้วติดอยู่ในเรือ” นั้นเกิดขึ้นน้อยมาก ตรงข้ามกับเสียชีวิตจากการไม่สวมชูชีพ แม้แต่คนที่ว่ายน้ำเป็น เวลาที่เรือล่มขึ้นมาก็มักจะตกใจจนทำอะไรไม่ค่อยถูก กระแสน้ำก็อาจจะแรง หรือมีแรงดูดจากเรือที่ล่มอีก การนำเสื้อชูชีพคล้องแขนไว้ยิ่งไม่น่าทำเข้าไปใหญ่ เสี่ยงที่เสื้อชูชีพจะหลุดไปจากตัวด้วยซ้ำ สวมในน้ำก็ไม่ใช่ง่าย"
อย่างไรก็ตาม สาเหตุการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางน้ำ อาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสวมเสื้อชูชีพหรือไม่เสมอไป และจากเหตุการณ์ที่ จ.ภูเก็ต พบว่า มีนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยที่เสียชีวิตขณะสวมเสื้อชูชีพที่ไม่ถูกต้อง
ทั้งนี้หน่วยงานที่ในไทยอย่างกรมเจ้าท่า และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมถึงหน่วยงานด้านความปลอดภัยทางน้ำในต่างประเทศ ต่างแนะนำให้สวมเสื้อชูชีพเพื่อความปลอดภัยของตัวผู้โดยสาร ทั้งยังมีโทษปรับสำหรับเจ้าของเรือที่ไม่จัดหาเสื้อชูชีพไว้ให้ผู้โดยสาร บางประเทศมีโทษปรับผู้โดยสารคล้ายกับการไม่คาดเข็มนิรภัย ...คราวนี้ก็ขึ้นอยู่กับตัวคุณแล้วว่า จะเชื่อหน่วยงานด้านความปลอดภัย หรือเชื่อแค่ตามความคิดเห็นส่วนบุคคล !?
(ภาพจาก:มรกต21 , ซีเองครับ382)