นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขต1 เปิดเผยว่า จากการซักซ้อมแผนการลำเลียงผู้สูญหายด้วยเฮลิคอปเตอร์หากพบตัว จากถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน ไปรักษาต่อที่รพ.ศูนย์เชียงรายประชานุเคราะห์ ใช้เวลาเพียง 15 นาที ขณะที่ทางรถใช้เวลากว่า 1 ชม. ระยะทาง 70-80 กม. แต่อาจต้องดูปัจจัยอื่นประกอบกันด้วย ตั้งแต่สภาพร่างกายของผู้ป่วย เนื่องจากด้านบนอากาศจะเบาบาง และนอกจากนี้ต้องดูเรื่องสภาพอากาศประกอบกัน หากอากาศปิดก็ไม่สามารถบินได้ ยังคงต้องใช้วิธีเคลื่อนย้ายด้วยรถ
ทั้งนี้ภารกิจในการค้นหายังคงดำเนินอย่างต่อเนื่อง มีแพทย์ทหารเข้าไปภายในถ้ำ ทันทีที่พบผู้พลัดหลง แพทย์จะประเมินอาการและปฐมพยาบาลตั้งแต่ในถ้ำ หากมีบาดแผลทั่วไปน่าจะมีภาวะติดเชื้อ เพราะผ่านมาแล้วหลายวัน นอกจากนี้ต้องประเมินด้วยว่าผู้พลัดหลงสภาพร่างกายเป็นอย่างไร มีภาวะอ่อนแรงจากการขาดอาหารและน้ำมากน้อยแค่ไหน เชื่อว่าน้ำอาจจะยังพอหาได้ แต่อาหารคงจะลำบาก จึงน่าจะอ่อนเพลียและไม่มีเรี่ยวแรง คงต้องฟื้นฟูสภาพร่างกายในระดับหนึ่งก่อนออกจากถ้ำ เพราะต้องเดินผ่านที่แคบและลุยน้ำกลับออกมา
เมื่อออกมาจากถ้ำแล้ว คาดว่าร่างกายและสายตาจะใช้เวลาปรับตัวสักระยะ ก่อนเคลื่อนย้ายไป รพ.ศูนย์เชียงรายประชานุเคราะห์ ที่มีความพร้อมมากที่สุด ซึ่งการเคลื่อนย้ายได้เตรียมเฮลิคอปเตอร์ไว้ 6 ลำ และรถพยาบาล 13 คัน สามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วย 2 ได้จุด ได้แก่ ปากถ้ำ และปล่องถ้ำ หากเดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์จะไปลงจอดในโรงเรียนที่ใกล้กับรพ.ศูนย์เชียงรายประชานุเคราะห์ และใช้เวลาเคลื่อนย้ายอีกประมาณ 5-10 นาที จากนั้นแพทย์จำเป็นต้องกักบริเวณเพื่อเฝ้าดูอาการว่ามีโรคใดออกมาจากถ้ำหรือไม่ เช่น โรคมากับจากค้างคาว ไวรัส ไข้ฉี่หนู ไข้รากสาดน้อย ซึ่งคงไม่ใช่โรคติดต่อไปยังผู้อื่น เบื้องต้นต้องเจาะเลือด และเอ็กซ์เรย์ปอด สังเกตุอาการ3-5วัน