เมื่อร่างกายได้รับพลังงานมากเกิน หรือกินมากกว่าที่ใช้ไป ร่างกายจะเก็บพลังงานในรูปของไขมันไตรกลีเซอรไรด์ไว้ในเซลล์ไขมัน และสะสมเซลล์ไขมันตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ในช่วงวัยรุ่นหรือวัยทำงานตอนต้น เนื้อเยื่อไขมันส่วนใหญ่จะอยู่ในชั้นใต้ผิวหนัง แต่เมื่อเข้าสู่วัยทองการทำงานของฮอร์โมนเพศและฮอร์โมนอื่น ๆ จะลดลง เนื้อเยื้อไขมันส่วนใหญ่ก็จะสะสมตามบริเวณช่องท้องและอวัยวะภายใน “แล้วอะไรที่เป็นปัญหา ?”
การอ้วนลงพุง จะเพิ่มโอกาสเกิดโรคเรื้อรังและภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ มากขึ้น โดยไขมันที่สะสมในช่องท้องหรือ พุง จะสลายตัวเป็นกรดไขมันอิสระผ่านเข้าตับโดยตรง ทำให้ตับทำงานผิดปกติ ดักจับอินซูลินได้น้อยลง ทำให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายรวน ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคเรื้อรังต่าง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โดยเฉพาะคนวัยทองที่ร่างกายเผาผลาญน้ำตาลและไขมันได้น้อยลง ความเสี่ยงต่อระดับน้ำตาลและไขมันที่สูงขึ้นจึงมีมาก ดังนั้นจึงง่ายต่อการอ้วนด้วยเช่นกัน
ทางที่ดีต้องดูแลไม่ให้อ้วน แต่ถ้าอ้วนล่ะจะทำยังไง เรามีคำแนะนำ
1. หาแรงจูงใจ สร้างความท้าทายด้วยการกำหนดเป้าหมายว่าจะลดเท่าไร ในเวลาเท่าไร แล้วจัดการให้ได้ตามนั้น
2. กินอาหารที่มีคุณค่า เน้นอาหารที่มีกากใย งดอาหารหวาน ของทอด ของกินเล่น
3. ออกกำลังกาย เพื่อใช้พลังงานส่วนเกินและให้อวัยวะอื่น ๆ ทำงานได้ดีขึ้น ใช้เวลา 30 นาที ต่อวัน
4. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้การทำงานของอวัยวะและฮอร์โมนต่าง ๆ ทำงานได้ดีขึ้น
5. งดสิ่งเสพติด บุหรี่ แอลกอฮอล์ เพราะทำให้ร่างกายทรุดโทรม และการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ลดประสิทธิภาพ
6. หมั่นติดตามน้ำหนักของตนเอง เพื่อปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการเกี่ยวกับการควบคุมน้ำหนัก
ที่มา : กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
รูปประกอบ bodybuilding.com , buaanhoanhao.vn , fixmybody.ie , kd.co.th , vichealth.vic.gov.au , safebee