รฟม. ประกาศนโยบายความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมการทำงานแก่ผู้ทำงานก่อสร้างรถไฟฟ้า

09 มิถุนายน 2561, 14:05น.


      การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ตระหนักถึงภารกิจในการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ อุบัติเหตุและปัญหาด้านสุขภาพต่างๆ โดยให้ความสำคัญในการกำกับดูแลบุคลากรในองค์กร ผู้รับจ้าง ผู้รับสัมปทาน และผู้ที่เกี่ยวข้องให้มีสภาพแวดล้อมในการทำงานให้มีความปลอดภัยและมีสุขภาพอนามัยที่ดี  โดยในปัจจุบัน รฟม. เป็นผู้บริหารงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างดำเนินงานก่อสร้างจำนวน 5 สายทาง ได้แก่ โครงการสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง – บางแค และช่วงเตาปูน – ท่าพระ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต โครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี  และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง เพื่อให้การดำเนินงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และสอดคล้องกับพระราชบัญญัติ  ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 และกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2559 จึงกำหนดนโยบายและแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้






     1.  ดำเนินงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ควบคู่ไปกับการดำเนินกิจกรรมอื่นขององค์กร โดยคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับบุคลากร ทรัพย์สิน สภาพแวดล้อมในการทำงาน สังคมและสิ่งแวดล้อม เสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร รวมทั้งให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมสุขภาพอนามัยของบุคลากร ผู้ปฏิบัติงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

     2.  ปฏิบัติตามกฎหมายด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน สนับสนุนนโยบายภาครัฐตามโครงการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยของประเทศไทย (Safety Thailand) รวมถึงข้อกำหนดขององค์กรและมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง เป็นบรรทัดฐานขั้นต้นในการดำเนินงาน

     3.  กำหนดมาตรการ ควบคุมดูแลป้องกันการเกิดอุบัติการณ์และอุบัติเหตุจากการทำงานของ  ผู้รับจ้างในการก่อสร้างโครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน โดยคณะกรรมการกำกับดูแล ติดตาม ตรวจสอบมาตรการด้านความปลอดภัยในการก่อสร้างโครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (Safety Board) 

     4.  กำกับดูแลการก่อสร้างโครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ให้ผู้รับจ้างดำเนินงานการก่อสร้างโครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนด้วยความปลอดภัย สอดคล้องตาม “ปฏิญญาว่าด้วยความปลอดภัยในการก่อสร้างโครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (MRTA Safety Declaration : Zero Fatal Accident)”

     5.   บูรณาการระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย และสร้างเสริมวัฒนธรรมความปลอดภัยในการทำงาน เพื่อให้เกิดความตระหนักและส่งเสริมให้การบริหารจัดการด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างยั่งยืน ตลอดจนเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ปฏิบัติงานทุกคนทุกระดับ

     6.  จัดสรรทรัพยากรด้านบุคลากร งบประมาณและการฝึกอบรมในด้านการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยที่เหมาะสมและเพียงพอ รวมทั้งจัดให้มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี เพื่อให้ พนักงานมีสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน

          ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลและติดตามข่าวสาร รฟม. เพิ่มเติมได้ที่ www.mrta.co.th และ เฟซบุ๊คการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) หรือ โทร 0 2716 4044
X