กรมชลประทาน รับมอบโครงการ RID IMIS จากเกาหลีใต้ ติดตั้งระบบโทรมาตรที่มีประสิทธิภาพสูง มาพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำด้านการเกษตร นำร่องโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปราณบุรี

23 พฤษภาคม 2561, 12:15น.


      ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้ลงนามร่วมกับสาธารณรัฐเกาหลีใต้ รับมอบโครงการ “ระบบการพัฒนาการบริหารจัดการข้อมูลเพื่อการชลประทาน RID IMIS (RID Irrigation Management Information System)” ภายใต้โครงการความมือทางวิชาการระหว่าง กรมชลประทานและ KRC (Korea Rural Community Corporation) ของสาธารณรัฐเกาหลี ที่ได้ดำเนินการ ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และได้มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ โดย ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานในพิธีเปิด





      สำหรับโครงการระบบการพัฒนาการบริหารจัดการข้อมูลเพื่อการชลประทาน (RID Irrigation Management Information System) ของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปราณบุรี หรือ โครงการ RID IMIS   เป็นความร่วมมือระหว่างกรมชลประทาน (RID) กับ Korea Rural Community Corporation ของสาธารณรัฐเกาหลีใต้ (KRC) เนื่องจากโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปราณบุรี เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีความสามารถที่จะเก็บกักปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำปราณบุรี 391 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อสนับสนุนภาคการเกษตร การอุปโภค-บริโภค ประปา ระบบนิเวศ และอื่นๆ มีพื้นที่ชลประทาน จำนวน 212,175 ไร่ และมีปริมาณการใช้น้ำในแต่ละปี อยู่ที่ 320 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการเกษตรมีความต้องการใช้น้ำถึง 200 ล้านลูกบาศก์เมตร รองลงมาคือ การอุปโภค-บริโภค โดยเฉพาะการใช้น้ำประปาในเขตเทศบาลเมืองหัวหินที่มีการใช้น้ำปีละประมาณ 40 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่มีความซับซ้อนยุ่งยากมากขึ้น รวมทั้งกำลังคนของเจ้าหน้าที่กรมชลประทานที่มีจำนวนน้อย ทำให้การลงพื้นที่สำรวจเพื่อติดตามแก้ไขปัญหาเกิดความล่าช้า  





      กรมชลประทาน และ KRC จึงได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีนวัตกรรมและผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำ โดยได้ดำเนินโครงการระบบการพัฒนาการบริหารจัดการข้อมูลเพื่อการชลประทาน หรือ RID IMIS    นำร่องที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปราณบุรี แบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 ดำเนินการเสร็จสิ้นไปเมื่อปี 2559 และระยะที่ 2 ดำเนินการเสร็จสิ้นในปี 2561 มีอุปกรณ์หลักๆ ที่ติดตั้งไว้ในสถานีทั้ง 23 แห่ง โดยกำหนดให้เป็นสถานีหลัก 25 สถานี และสถานีลูกข่ายอีก 10 สถานี ติดตั้งที่หัวงานจนถึงระบบคลองส่งน้ำ มีองค์ประกอบหลัก ประกอบด้วย ภาพถ่าย ปริมาณฝน การเปิดปิดบาน การระบายน้ำ ปริมาณน้ำผ่านประตูของคลองสายหลักและสายรอง 







      ปัจจุบันโครงการ RID IMIS โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปราณบุรี ได้ดำเนินการแล้วสำเร็จ สามารถใช้งานในการบริหารจัดการน้ำได้รวดเร็ว แม่นยำ บรรลุตามวัตถุประสงค์ ซึ่งสามารถให้บริการกับผู้ใช้น้ำ เกษตรกร และภาคส่วนต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ นับเป็นการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำด้านการเกษตร รวมทั้งสร้างระบบการจัดการน้ำเพื่อรองรับภาวะอุทกภัยและภัยแล้งอย่างมีประสิทธิภาพ





      รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ความสำเร็จของโครงการ RID IMIS โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปราณบุรี กรมชลประทานได้นำมาต่อยอดการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กรม RID No.1 คือ การประยุกต์ใช้เรื่องเทคโนโลยี นวัตกรรมและเครื่องมือที่ทันสมัย รวมทั้งการจัดทำระบบฐานข้อมูลมาในการปฏิบัติงาน หรือ Big Data  ทั้งนี้ แผนการดำเนินการต่อไป กรมชลประทานได้เตรียมพัฒนาระบบควบคุมจากส่วนกลาง คือ ที่หัวงานของเขื่อนปราณบุรี ให้สามารถเปิด-ปิดประตูควบคุมน้ำได้ เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพของการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด





 

X