การเคหะฯ เผย ดัชนีศก.ชุมชน สูงกว่า ศก.ฐานรากและผู้มีรายได้น้อย พร้อมชู 4 Flagship Projects

21 พฤษภาคม 2561, 17:20น.




     ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวถึงดัชนีเศรษฐกิจชุมชน (Community Economic Index : CEI) ว่า การเคหะแห่งชาติได้ดำเนินการสำรวจข้อมูลครัวเรือนของผู้อยู่อาศัยในโครงการของการเคหะแห่งชาติ และครัวเรือนของผู้มีรายได้น้อยในชุมชนอื่นๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำเดือนเมษายน 2561 เพื่อติดตามและประเมินผลการเติบโตด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยโดยรวมของครัวเรือนในโครงการของการเคหะแห่งชาติ เพื่อเปรียบเทียบการเติบโตด้านเศรษฐกิจกับครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยในชุมชนอื่นๆ รวมถึงศึกษาปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อการจัดทำดัชนีชี้วัดทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และด้านที่อยู่อาศัยของครัวเรือน ทั้งในชุมชนโครงการของการเคหะแห่งชาติ และครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยในชุมชนอื่นๆ พบว่า ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีค่าดัชนี 52.1 สูงกว่าดัชนีเศรษฐกิจฐานราก และดัชนีเศรษฐกิจของผู้มีรายได้น้อย โดย...


ผลการประเมินด้านเศรษฐกิจ มีค่าดัชนี ดังนี้

กรุงเทพมหานครและปริมณฑล  :   55.8

ภาคกลาง                                :   47.4

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ          :   53.1

โดยค่าดัชนีในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีค่าสูงกว่าค่ากลาง (ค่ากลาง = 50)

แสดงว่าครัวเรือนในชุมชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งสะท้อนได้จากครัวเรือนมีอาชีพที่มั่นคง มีรายได้ที่แน่นอน มีเงินทุนในการประกอบอาชีพ และในครัวเรือนส่วนใหญ่ยังมีการออมทรัพย์เกินร้อยละ 50 ของครัวเรือนทั้งหมดในชุมชน

ทั้งนี้ ครัวเรือนส่วนใหญ่ในชุมชนของการเคหะแห่งชาติจะออมทรัพย์ในรูปแบบของเงินสด หรือฝากเงินไว้ในธนาคาร มีเพียงครัวเรือนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่ออมทรัพย์ในอสังหาริมทรัพย์มากกว่าภูมิภาคอื่นๆ

สำหรับภาระหนี้สินของครัวเรือนของชุมชนการเคหะแห่งชาติ ส่วนใหญ่จะเป็นหนี้ในการซื้อบ้านและที่ดิน รองลงมาได้แก่ หนี้เพื่อการดำรงชีพ และหนี้เพื่อสิ่งอำนวยความสะดวก ตามลำดับ

ส่วนแหล่งเงินกู้ของครัวเรือนของชุมชนการเคหะแห่งชาติ ส่วนใหญ่กู้เงินจากธนาคาร รองลงมากู้เงินจากญาติหรือพี่น้อง แต่มีบางส่วนที่กู้เงินนอกระบบ 


ผลการประเมินด้านสังคม มีค่าดัชนี ดังนี้

กรุงเทพมหานครและปริมณฑล  :   50.5

ภาคกลาง                                :   22.0

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ          :   43.8

โดยค่าดัชนีของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีค่ามากกว่าค่ากลาง (ค่ากลาง=50)

ซึ่งหมายความว่าครัวเรือนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีชีวิตความเป็นอยู่ดีกว่าภาคอื่นๆ ประเมินได้จากชุมชนสามารถพึ่งพาอาศัยกันได้ มีการรวมกลุ่มในการทำกิจกรรมร่วมกัน เป็นต้น 


ผลการประเมินด้านที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อม มีค่าดัชนี ดังนี้

กรุงเทพมหานครและปริมณฑล : 55.8

ภาคกลาง                               :  64.4

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ         :  65.1

โดยค่าดัชนีดังกล่าวของทุกภาคมีค่าดัชนีสูงกว่าค่ากลาง (ค่ากลาง=50)

ซึ่งสะท้อนได้จากสัดส่วนของครัวเรือนที่มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย เป็นเจ้าของบ้านและที่ดินส่วนใหญ่เกินร้อยละ 45 สภาพที่อยู่อาศัยในโครงการมีสภาพที่ดีไม่เสื่อมโทรมเกินร้อยละ 70 และยังช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมภายในชุมชน เช่น ดูแลเรื่องขยะ การกำจัดของเสีย เป็นต้น



     สำหรับการดำเนินงานของการเคหะแห่งชาติที่ตอบสนองนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้กำหนด Flagship Projects ที่สำคัญ 4 โครงการ ได้แก่

1. โครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุรายได้ปานกลาง (บ้านเคหะกตัญญู คลองหลวง 1, 2)

2. โครงการเคหะประชารัฐ (ร่วมดำเนินงานกับภาคเอกชน)

3. โครงการตลาดเคหะประชารัฐ

4. การบริหารจัดการอาคารคงเหลือ 
X