ทราบหรือไม่ว่า..กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้ขับขี่มีอะไรบ้าง??

11 เมษายน 2561, 15:32น.


     ผู้ใช้รถใช้ถนนหลายคนอาจจะยังไม่รู้ ว่าจริงๆแล้วกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้ขับขี่ยานพาหนะในบ้านเรา นอกเหนือจาก 'กฎหมายจราจร' แล้วนั้นมีกฎหมายอะไรอีกบ้าง? ความจริงแล้วคือ มีกฎหมายรองรับไม่น้อยกว่า 8 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับผู้ขับขี่ยานพาหนะทุกชนิด นับตั้งแต่รถจักรยาน 2 ล้อ จนไปถึงรถบรรทุกเทรลเลอร์ 22 ล้อ เพียงแต่พวกเราอาจไม่ได้สนใจหรือไม่มีความรู้ในเรื่องนี้มากพอ




    ...ถ้าหากเกิดเหตุอะไรขึ้นมา เราจะสามารถรักษาสิทธิตามกฎหมายของตนเอง ได้อย่างไร? วันนี้เรามีคำตอบให้ครับ กับ 'พีระพงษ์ กลั่นกรอง' (รายการ คาถากันชน)




สำหรับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้ขับขี่ยานพาหนะ ในประเทศเรานั้น มีไม่น้อยกว่า 8 ฉบับ คือ


- กฎหมายจราจร : ครอบคลุมถึงวิธีขับและข้อห้ามปฏิบัติบนท้องถนน เช่น ห้ามคร่อม ห้ามทับเส้นทึบ เครื่องหมายจราจรบนผิวทาง


- กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ : คือการละเมิดต่อทรัพย์ ทำให้ทรัพย์สินเสียหาย เช่น ขับรถเฉี่ยวชนกัน โดยไม่มีผู้บาดเจ็บ ซึ่งข้อนี้สามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้มากกว่าการชดใช้ค่าซ่อมรถ


- กฎหมายอาญา : เช่น ชนคนบาดเจ็บ บาดเจ็บสาหัส พิการ หรือเสียชีวิต


- กฎหมายประกันวินาศภัย : คือข้อบังคับเกี่ยวกับการประกันภัยรถทั้งหมด


- พรบ.ขนส่งทางบก : คือจะควบคุมระบบขนส่งทางบก รถโดยสารสาธารณะ ทั้งหมด


- พรบ.ทางหลวงพิเศษ : เช่น มอเตอร์เวย์ ถ.กาญจนาภิเษก เป็นต้น หากฝ่าฝืนความเร็วปรับ 5,000 บาท


- กฎหมายว่าด้วยลักษณะรถยนต์ : เช่น เปลี่ยนไฟเลี้ยวจากสีเหลืองเป็นสีอื่นๆ ติดอุปกรณ์แต่งรถยื่นล้ำออกนอกตัวรถ นอกเหนือจากที่บริษัทรถยนต์จดทะเบียนไว้ คือผิดกฎหมาย


- กฎหมายสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ : เช่น รถบรรทุกทำสิ่งของตกหล่นบนผิวทาง ควันดำเกินค่ามารตรฐาน และอื่นๆ




Q : อะไรบ้างที่คาบเกี่ยวระหว่าง กฎหมายจราจร และ กฎหมายอาญา?


A : เป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ขับขี่ต้องระวังเป็นพิเศษ ยกตัวอย่างเช่น การขับรถย้อนศร ขับรถด้วยความคึกคะนอง ขับรถปาดหน้ากัน จากการพิพากษาของศาลในหลายๆกรณี เป็นโทษอาญาสั่งให้จำคุกเพราะผิดในข้อหา 'ขับรถประมาทหวาดเสียวอันไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้อื่น'




     ดังนั้น สิ่งที่เราได้ยิน ได้บ่นกันบ่อยๆว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจับสั่งปรับโน้นนี่ ตามกฎหมายจราจร พอเราไม่รู้ว่ามีโทษหนักหรือรุนแรงกว่าการจับปรับ เราก็บ่นกันไป แต่เมื่อเทียบกับกฎหมายอาญาแล้ว กลายเป็นโทษเบาๆไปเลย ซึ่งต้องบอกเลยครับในต่างประเทศ โทษจับปรับนั้นแพงกว่าบ้านเรามาก หากฝ่าฝืนความเร็วเพียงนิดเดียว ค่าปรับก็เป็นพันเป็นหมื่นบาท ละครับ




     สิ่งสำคัญที่สุดของการขับขี่ คือถ้าเรารู้และปฏิบัติตามกฎจราจร การใช้รถใช้ถนนนั้นถือว่าเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน ถ้าเราผิด-เราก็ต้องรับผิดชอบ ปัญหาหลักๆในทุกวันนี้คือ ไม่เคารพกฎจราจร ตั้งใจทำผิด เอาแต่ใจตัวเอง เพราะคิดว่าโทษแค่ปรับเงินไม่กี่ร้อยบาท หรือไม่ก็เอาแต่อารมณ์ ทะเลาะกัน ทำร้ายร่างกายกัน เพียงเพราะเรื่องไม่เป็นเรื่อง ทำไมไม่ลองคิดอย่างนี้ล่ะครับ...


ข้อแรก - กฎจราจร คือ ข้อตกลงความปลอดภัยส่วนรวม


ข้อที่สอง - รถที่เราขับนั้น คือ เครื่องมือในการทำมาหากิน


ข้อที่สาม - มีสติ..ใจเย็นนิดเดียว เดี๋ยวก็ถึงบ้านได้นั่งทานข้าวเย็นกับคน ในครอบครัว แทนที่จะไปเสียเวลาอยู่ข้างถนน หรือว่า บนสถานีตารวจ นาน 3-4 ชม.
X