ในวันที่คนกลุ่มหนึ่งพยายามแก้ปัญหาการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าด้วยการเซ็ตซีโร่ หรือที่รู้กันในภาษาชาวบ้านว่า การวางยาเบื่อสุนัข เช่นที่เกิดขึ้นแล้วที่วัดแห่งหนึ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราช แต่ยังมีจิตอาสากลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่งในพื้นที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ที่อุทิศตัวดูแลสุนัขจรจัดกว่าพันชีวิตด้วยความรัก ความเอาใจใส่ วันนี้ JS100 จะพามารู้จัก พี่นุช อรนุช บานแย้ม ผู้ก่อตั้งและดูแลเพจ หมาจรชะอำ Stray dogs Cha am หญิงผู้เปรียบเหมือนเป็น แม่พระ ของบรรดาน้องหมาที่ถูกทอดทิ้ง และตอบคำถามประเด็นร้อนเกี่ยวกับการเซ็ตซีโร่ ถ้าไม่กำจัดสุนัขแล้วจะควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างไร
พี่นุช อรนุช บานแย้ม ผู้ก่อตั้งและดูแลเพจ หมาจรชะอำ Stray dogs Cha am
พี่นุช อรนุช บานแย้ม เล่าถึงที่มาของการทำกิจกรรมว่า เริ่มจากการมีพื้นฐานเป็นคนรักสุนัข และเห็นว่าในพื้นที่มีสุนัขจรจัดอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จึงช่วยเหลือโดยการให้อาหาร วันหนึ่งทางเทศบาลได้เข้ามาจับสุนัขที่พี่นุชดูแลอยู่ โดยบอกกับพี่นุชว่า จะพาไปทำหมันเสร็จแล้วจะนำกลับมาปล่อยคืนที่เดิม แต่แล้วทางเทศบาลก็ ผิดสัญญา และจุดนี้เองที่ฉุดให้พี่นุชลุกขึ้นมาทำกิจกรรมเกี่ยวกับการทำหมันสุนัขจรจัดด้วยตนเอง เป็นงานจิตอาสาที่ทำร่วมกันเป็นเครือข่าย เช่น เวลาลงพื้นที่ก็จะมีพี่กิต จากกลุ่มหมานคร ช่วยนำรถปิคอัพบรรทุกกรงมาจับสุนัข และช่วยยิงยาสลบ ส่วนการทำหมันก็จะมีสัตวแพทย์จากกลุ่มหยุดทายาทจรจัด มารับหน้าที่ โดยมีคลินิคชะอำรักษาสัตว์ เป็นผู้เอื้อเฟื้อสถานพักฟื้น
กิจกรรมของพี่นุชจะเน้นการทำหมันให้สุนัขจรจัดเป็นหลัก โดยจะมีการนัดจิตอาสามาลงพื้นที่เป็นประจำเดือนละครั้ง สลับกันระหว่างที่บ่อขยะชะอำ บริเวณชายหาด ตามวัด และซอกซอยต่าง ๆ แต่ละครั้งที่ลงพื้นที่จะจับสุนัขได้ราว 40-45 ตัว มีค่าใช้จ่ายตกตัวละ 1,000 บาท แก่นหลักของแนวคิดเรื่องการทำหมันให้สุนัขจรจัด คือ การควบคุมจำนวน ไม่ให้สุนัขไปสร้างความเดือดร้อนต่อสังคมโดยรอบ และเป็นการป้องกันการทารุณสัตว์ที่จะเป็นปัญหาติดตามมา หลังได้รับการทำหมัน เมื่อสุนัขพักฟื้นดีแล้วก็จะปล่อยกลับคืนที่เดิม พร้อมฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า วัคซีนรวม และยากำจัดเห็บหมัดให้ นอกจากนี้ถ้าพบสุนัขที่เจ็บป่วย พิการ ก็จะส่งไปรักษากับสัตวแพทย์ที่คลินิกชะอำรักษาสัตว์ และหากได้รับบริจาคอาหารสัตว์เข้ามามาก ๆ พี่นุชก็จะส่งต่อให้กับลุง ๆ ป้า ๆ ที่ดูแลสุนัขตามพื้นที่ที่มีการอาศัยอยู่หนาแน่น
สำหรับสตุ้งสตางค์ที่ใช้ในการดูแลน้องหมา พี่นุชจะเปิดให้ทุกคนได้ช่วยกันสมทบทุนผ่านเพจ หมาจรชะอำ Stray dogs Cha am และเพจ Stray Dogs Cha-am ที่ก่อตั้งและดูแลโดยเพื่อนชาวเนเธอร์แลนด์ เพื่อระดมทุนจากชาวต่างประเทศ โดยจะมีการอัปเดตความเคลื่อนไหวเป็นภาพนิ่ง และวิดีโอ ฉายภาพให้เห็นกิจกรรมระหว่างลงพื้นที่ และติดตามอาการสุนัขที่เจ็บป่วย ทั้งนี้การระดมทุนจะเปิดเป็นเคส ๆ ไป เช่น การทำหมัน ค่าอาหาร การรักษาสุนัขที่เจ็บป่วยพิการ และเมื่อถามถึงอุปสรรคของการทำกิจกรรม พี่นุชเล่าว่า คนในพื้นที่ให้การสนับสนุน เข้าใจในสิ่งที่ตนทำเป็นอย่างดี แต่ก็ยังมีคนแอบนำสุนัขมาปล่อยตามวัด และบ่อขยะชะอำอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีสุนัขอีกเป็นจำนวนมากรอให้เข้ามารับการดูแล
และสำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โรคพิษสุนัขบ้า พี่นุชเล่าว่า ขณะนี้ยังไม่พบการแพร่ระบาดในพื้นที่ แต่ก็มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะสุนัขจรจัดที่อาศัยอยู่แถบโซนทะเลที่มีนักท่องเที่ยวชุกชุม ทางกลุ่มจิตอาสาก็กำลังวางแผนจัดให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคซ้ำอีกครั้ง และในส่วนของชาวบ้านเองก็มีความตื่นตัวพร้อมรับมือเป็นอย่างดี ส่วนคำถามถึงประเด็นร้อน ๆ อย่างแนวคิด การเซ็ตซีโร่สุนัขจรจัด ที่เริ่มมีปฏิบัติการในบางพื้นที่แล้วนั้น พี่นุชมองว่า เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ที่ถูกต้องคือจะต้องรณรงค์ให้คนที่เลี้ยงสุนัข หรือแมว นำสัตว์เลี้ยงของตนไปทำหมัน เพื่อป้องกันปัญหาการเลี้ยงไม่ไหว แล้วนำพวกเขามาปล่อยในที่สาธารณะจนเป็นภาระต่อผู้อื่น และอย่ารอการช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐเพียงอย่างเดียว อะไรที่ทำเองได้ก็ช่วยเหลือกัน หรือหากมีเวลาว่างก็สามารถมาลงพื้นที่ดูการทำงานของจิตอาสาได้ เพื่อจะได้นำไปปรับใช้กับการทำงานในพื้นที่ของตนต่อไป
ชญานนท์ กลั่นงาม