ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย เผย"การควบคุมความเร็ว" เป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนที่สุด

16 พฤศจิกายน 2560, 16:09น.


    รศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากการรวบรวมข้อมูล 3 ฐาน ประกอบด้วย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข และประกันภัย ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตปีละประมาณ 20,000 คน และจากการเปรียบเทียบย้อนหลัง 5 ปี ก็ยังคงไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จนทำให้องค์การอนามัยโลกจัดให้ประเทศไทยเป็นประเทศอันดับ 2 ที่เกิดอุบัติเหตุทางถนนมากที่สุดของโลก หรือเสียชีวิต 36 คน ต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย พบว่า สิ่งที่ประเทศไทยต้องมีมาตรการแก้ไขอย่างเร่งด่วนที่สุด คือ "การควบคุมความเร็ว" เพราะเป็นปัจจัยสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุที่รุนแรง ขณะที่สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุอันดับแรก ก็คือตัวผู้ขับขี่เอง





     มาตรการสำคัญที่ภาครัฐโดยกรมการขนส่งทางบกนำมาใช้อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ได้แก่ การกำหนดให้รถตู้และรถโดยสารสาธารณะต้องติดตั้ง GPS เพื่อติดตามและควบคุมความเร็ว ซึ่งจะเห็นได้ว่าในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา สถิติการเกิดอุบัติเหตุรุนแรงจากรถสาธารณะลดลงอย่างเห็นได้ชัด ขณะเดียวกันถือว่าน่าเสียดายที่โครงการจัดซื้อเครื่องตรวจจับความเร็วของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยถูกระงับชั่วคราวเพื่อทบทวนรายละเอียดใหม่



   ทั้งนี้ ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา มีข่าวอุบัติเหตุรุนแรงอย่างน้อย 2 ครั้ง คือ อุบัติเหตุรถตู้เช่าเหมารับนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 8 พ.ย.60 ที่จ.พระนครศรีอยุธยา และ อุบัติเหตุรถบัสนักเรียนพลิกตะแคง เมื่อวันที่ 15 พ.ย.60 ที่จ.นครราชสีมา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต









 ( แฟ้มภาพจากทวีตเตอร์ js100radio )
X