กฟผ. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มุ่งพัฒนาชุมชนพึ่งพาตนเองตามพื้นที่ใกล้แนวสายส่งไฟฟ้า ขับเคลื่อนแนวคิดการจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็ก เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำจากภูมิปัญญาชาวบ้านห้วยยาง อ.เขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น โดยเน้นการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน กฟผ. ช่วยเสริมด้านเทคนิค ความรู้ เพื่อให้เกิดการพึ่งพาตนเอง สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

นายสืบพงษ์ บูรณศิรินทร์ รองผู้ว่าการกิจการสังคม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนและพัฒนาชุมชนที่อยู่ใกล้แนวสายส่งไฟฟ้า โดยหวังสร้างชุมชนให้มีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน จึงได้ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินโครงการสื่อสารและสร้างเครือข่ายชุมชนพึ่งตนเองพื้นที่ใกล้แนวสายส่งไฟฟ้าอย่างยั่งยืน ในพื้นที่บ้านห้วยยาง อ.เขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น โดยพบว่าชุมชนมีปัญหา คือ การขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค ขาดแคลนน้ำดิบในการผลิตน้ำประปา มีต้นทุนในการผลิตน้ำประปาสูง น้ำน้อย สภาพน้ำขุ่นมาเกือบ 40 ปี โดยต้องใช้สารส้มแกว่งเฉลี่ยถึงปีละ 4 ตัน และเป็นการแก้ไขได้เพียงชั่วคราว ชุมชนจึงระดมความคิดร่วมกันกับองค์กรและภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก แต่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำได้ ซึ่ง กฟผ. ได้เห็นถึงความมุ่งมั่น ตั้งใจ และความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านในการริเริ่มโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก กอปรกับมีแนวคิดพัฒนาชีวิตชุมชนที่อยู่ใกล้แนวสายส่งไฟฟ้า จึงได้ร่วมสนับสนุนการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กโดยให้ความรู้ด้านเทคนิค เทคโนโลยี โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน และให้ประชาชนเป็นเจ้าของโครงการอย่างแท้จริง

โครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก มีชุมชนเป็นเจ้าของโครงการตั้งแต่กระบวนการร่วมระดมความคิดและแก้ไขปัญหาอย่างละเอียดรอบคอบ โดยอาศัยความรู้ คำแนะนำ และการสนับสนุน ที่ได้รับจาก กฟผ. และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผสมผสานกับความคิดและภูมิปัญญาของชาวบ้าน ได้คัดเลือกวิธีผันน้ำธรรมชาติ โดยใช้แหล่งน้ำจากที่สูง (ลำห้วยยาง) วางท่อลงมาสู่อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของหมู่บ้าน (บึงหนองแสง) โดยใช้หลักแรงโน้มถ่วงตามธรรมชาติ ไม่ต้องสร้างฝายและเสียค่าสูบน้ำ ช่วยกันสร้างและบำรุงรักษาโดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้าน ที่ช่วยกันลงขันสมทบทุนและแรงงานทุกครัวเรือน อบต. สนับสนุนท่อและวัสดุอุปกรณ์ กฟผ. สนับสนุนด้านเทคนิคการขุดลอกวางท่อลอดถนน พร้อมมีการจัดตั้งกองทุนบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบโดยคนในชุมชนเอง เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ให้สามารถมีน้ำกินน้ำใช้ได้ตลอดปี จนทำให้จากชุมชนที่เคยแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำใช้มาถึง 40 ปี ปัจจุบันมีที่กักเก็บน้ำถึง 2 บ่อ พื้นที่กว่า 56 ไร่ จุน้ำได้ กว่า 12,000 ลูกบาศก์เมตร จากพลังชุมชนและการจัดการโดยคนในชุมชน

นอกจากนี้ กฟผ. ยังได้สร้างเครือข่ายชุมชนพึ่งตนเองตามหลักการดังกล่าว โดยดำเนินการในพื้นที่ภาคเหนือและภาคใต้ไปพร้อมกัน ได้แก่ การทำนาอินทรีย์ ฟื้นประเพณีเกี่ยวกับข้าวที่จังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดอุตรดิตถ์ และการปลูกพืชสมุนไพรอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพในจังหวัดสงขลาและจังหวัดสตูล
“หลักที่สำคัญในการดำเนินโครงการ คือ การยึดหลักให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง เน้นการมีส่วนร่วม การเสริมพลังที่จะนำไปสู่การพึ่งพาตนเอง รวมทั้งการทำงานในลักษณะเครือข่ายกับชุมชนและหน่วยงานอื่น ๆ เมื่อชุมชนเป็นเจ้าของโครงการ จะทำให้ชุมชนได้เรียนรู้จากการช่วยกันคิดและลงมือทำจริง พึ่งพาตนเองได้ ไปจนถึงการบูรณาการต่อยอดความรู้ที่มีเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่นยืน และสามารถเป็นต้นแบบในการพัฒนาชุมชนอื่นที่อยู่ใกล้แนวสายส่งไฟฟ้าต่อไป” นายสืบพงษ์ กล่าว