กรมทางหลวง เปิดสถานีตรวจน้ำหนักด่านชายแดนหนองคาย ควบคุมรถบรรทุกที่มีน้ำหนักเกินจากต่างประเทศ เพื่อป้องกันถนนเสียหาย

02 กันยายน 2560, 08:10น.


          นายชาติชาย ช่วงชิง วิศวกรใหญ่ด้านบำรุงรักษา กรมทางหลวง เปิดเผยหลังเป็นประธานในพิธีเปิดสถานีตรวจสอบน้ำหนักด่านชายแดนหนองคาย บนทางหลวงหมายเลข 2 ตอน การเคหะแห่งชาติ – กลางสะพานมิตรภาพ  ที่หนองคาย (เขตแดนไทย/ลาว)  กม.507+140 ด้านขวาทาง จ.หนองคาย   ว่า ตามที่ประเทศไทยได้เข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asian Economics Community, AEC) ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายสินค้าระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนได้อย่างเสรี อีกทั้งประเทศไทยยังมีเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของภูมิภาคในอนาคตอันใกล้ แต่อย่างไรก็ตามปัญหาสิ่งหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นได้เนื่องจากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ได้แก่ การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่อาจมีการบรรทุกน้ำหนักเกินกว่ากฎหมายกำหนดเพิ่มมากขึ้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการเตรียมความพร้อมด้านการขนส่งเพื่อรองรับ การเคลื่อนย้ายสินค้าอย่างเสรีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องของการบรรทุกน้ำหนักเกินกว่ากฎหมายกำหนด ซึ่งจะส่งผลให้ทางหลวงภายในประเทศได้รับความเสียหาย ต้องเสียงบประมาณในการบำรุงรักษาเป็นจำนวนมาก







         กรมทางหลวงตระหนักถึงความสำคัญด้านยุทธศาสตร์ของประเทศไทยในปัจจุบันที่ไม่มีสถานีตรวจสอบน้ำหนัก ในตำแหน่ง ที่เหมาะสมระหว่างประเทศ เพื่อควบคุมรถบรรทุกที่มีน้ำหนักเกินพิกัดจากต่างประเทศผ่านแดนเข้ามาก่อให้เกิดความเสียหายต่อทางหลวงของประเทศไทย กรมทางหลวงจึงได้มีโครงการก่อสร้างสถานีตรวจสอบน้ำหนักด่านชายแดน โดยได้กำหนดไว้จำนวน 6 แห่งตามแนวชายแดนต่างๆได้แก่ 1. สถานีตรวจสอบน้ำหนักด่านชายแดนหนองคาย 2.สถานีตรวจสอบน้ำหนักด่านชายแดนนครพนม 3. สถานีตรวจสอบน้ำหนักด่านชายแดนเชียงของ 4..สถานีตรวจสอบน้ำหนักด่านชายแดนมุกดาหาร 5.สถานีตรวจสอบน้ำหนักด่านชายแดนปาดังเบซาร์  6.สถานีตรวจสอบน้ำหนักด่านชายแดนน่าน ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จแล้ว1 แห่ง คือ1. สถานีตรวจสอบน้ำหนักด่านชายแดนหนองคาย และระหว่างดำเนินการ 1 แห่งได้แก่สถานีตรวจสอบน้ำหนักด่านชายแดนนครพนม (กำหนดแล้วเสร็จปี 2562) ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างเสนอของบประมาณ









         นายชาติชาย กล่าวต่อไปอีกว่าสำหรับประโยชน์ของการจัดตั้งสถานีตรวจสอบน้ำหนักด่านชายแดนนั้นจะเป็นการ ป้องกันการบรรทุกน้ำหนักเกินกว่ากฎหมายกำหนดและทำให้อายุการใช้งานของทางหลวงเป็นไปตามที่ออกแบบไว้ลดค่าใช้จ่ายของระบบ Logistic โดยรวมเนื่องจากทางหลวงมีความสะดวกและรวดเร็วทำให้การขนส่งมีความสะดวกรวดเร็ว ปลอดภัย ประหยัดและคุ้มค่า โดยลดความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดการบรรทุกน้ำหนักเกิน เช่น อุบัติเหตุปัญหาการจราจรติดขัดจากรถบรรทุก ความเสียหายของทางหลวงเนื่องจากการบรรทุกน้ำหนักเกิน  และส่งเสริมการขนส่ง  ในด้านการค้าขายและการบริการเพื่อเชื่อมระหว่างประเทศ อีกด้วย

X