1 ต.ค.นี้!! BTS ปรับค่าโดยสารเพิ่ม 1-3 บาท เตรียมนำเข้ารถไฟฟ้าใหม่ต้นปี 61

29 สิงหาคม 2560, 07:19น.


          นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 บริษัทฯ จะปรับราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้า BTS ในส่วนของเส้นทางสัมปทาน (ไม่รวมส่วนต่อขยายของกรุงเทพมหานคร)  ระยะทาง 23.5 กิโลเมตร สายสุขุมวิท สถานีหมอชิต - สถานีอ่อนนุช ,และสายสีลม สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ - สถานีสะพานตากสิน เพิ่มขึ้น 1 - 3 บาท หรือหรือร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับค่าโดยสารเดิม จากราคา 15 – 42 บาท เป็น 16 – 44 บาท มีรายละเอียดดังนี้

1 สถานี ราคา 16 บาท

2 สถานี ราคา 23 บาท

3 สถานี ราคา 26 บาท

4 สถานี ราคา 30 บาท

5 สถานี ราคา 33 บาท

6 สถานี ราคา 37 บาท

7 สถานี ราคา 40 บาท

8 สถานีเป็นต้นไป ราคา 44 บาท




ส่วนบัตรโดยสารเที่ยวเดินทาง 30 วัน จะปรับขึ้นเที่ยวละ 1 บาท ดังนี้


บุคคลทั่วไป

50 เที่ยว 1,300 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 26 บาท

40 เที่ยว 1,080 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 27 บาท

25 เที่ยว 725 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 29 บาท

15 เที่ยว 465 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 31 บาท

นักเรียนนักศึกษา

50 เที่ยว 950 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 19 บาท

40 เที่ยว 800 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 20 บาท 

25 เที่ยว 550 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 22 บาท

15 เที่ยว 360 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 24 บาท

        สำหรับผู้ใช้บัตรแรบบิทประเภทเติมเงิน จะยังคงราคาค่าโดยสารเดิมเป็นเวลา 6 เดือน จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2561 ดังนั้นแนะนำผู้โดยสารที่เคยซื้อบัตรโดยสารเที่ยวเดียว ให้เปลี่ยนมาใช้บัตรโดยสารแบบเติมเงินแทน เพื่อความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ส่วนผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เมื่อใช้บัตรแรบบิทสำหรับผู้สูงอายุยังจะได้รับส่วนลดครึ่งราคาจากอัตราราคาใหม่ โดยสามารถเดินทางได้ไม่จำกัดเวลา 




        ทั้งนี้ ตามสัญญาสัมปทานกำหนดให้ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ สามารถปรับค่าโดยสารได้ทุก 18 เดือน แต่ต้องไม่เกินเพดานที่กำหนดคือ 20.11 – 60.31 บาท โดยครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2556 ผ่านมาแล้วกว่า 4 ปี มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสูงขึ้นถึงร้อยละ 20 โดยเฉพาะการบำรุงรักษา แต่การปรับค่าโดยสารครั้งนี้เฉลี่ยเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น

        นอกจากนี้ ยังลงทุนเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกและการบริการ อาทิ

1. การสั่งซื้อรถไฟฟ้าเพิ่มอีก 46 ขบวน ขบวนละ 4 ตู้ รวมเป็น 184 ตู้ ทยอยนำเข้ามาในประเทศไทยประมาณต้นปี 2561

2. การปรับปรุงระบบตั๋วโดยสาร เปลี่ยนตู้จำหน่ายบัตรโดยสารเป็นระบบสัมผัส(Touch Screen) และสั่งตู้จำหน่ายตั๋วโดยสารที่รับธนบัตรเพิ่ม 50 ตู้ (ปัจจุบันมีอยู่ 50 ตู้) เริ่มทยอยติดตั้งในปี 2561

3. จัดทำป้ายประชาสัมพันธ์อิเล็คทรอนิกส์บนชานชาลา เพื่อแจ้งความถี่ในการให้บริการ รวมถึงแจ้งเหตุรถไฟฟ้าขัดข้อง และมีแผนที่จะลงทุนติดตั้งประตูกั้นชานชาลาอัตโนมัติในสถานีต่างๆ เพิ่มมากขึ้น




        สำหรับรถไฟฟ้า BTS เปิดให้บริการในปี 2542 มีอัตราค่าโดยสาร 10 – 40 บาท และมีการปรับขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2549 เป็น 15 - 40 บาท ,ครั้งที่สองเมื่อปี 2556 เป็น 15 - 42 บาท ,และครั้งนี้เป็นครั้งที่สาม 16 - 44 บาท ซึ่งเมื่อเทียบกับการให้บริการครบ 18 ปี ในเดือนธันวาคม 2560 ถือว่ามีการปรับราคาน้อยครั้งมาก
X