การอบรมในโครงการพัฒนาศักยภาพสื่อด้านความปลอดภัยทางถนน ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย(ส.ส.ท.) World Health Organisation (WHO) Bloomberg Philanthropies และภาคีเครือข่ายความปลอดภัยทางถนน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2560 แบ่งเป็นการลงพื้นที่เดือนละ 1ครั้ง 3ภูมิภาค เพื่อศึกษาถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะมาจากปัจจัยจาก คน รถ ถนน หรือสิ่งแวดล้อม เพื่อใช้ในการรายงานข่าวด้านอุบัติเหตุที่สื่อถึงต้นเหตุที่แท้จริง ไม่ใช่เรื่องความความเชื่อ โชคชะตา หรืออาถรรพ์
เดือนพฤษภาคม 2560 ได้ร่วมกิจกรรม Stop The CRASH หรือหยุดการชน เป็นการแสดงนวัตกรรมด้านยานยนต์เพื่อถนนปลอดภัย ที่สนามแข่งรถ ปทุมธานีสปีดเวย์ เช่น ระบบ ABS ของรถจักรยานยนต์ ซึ่งใช้ในสถานการณ์ที่เกิดอุบัติเหตุและต้องเบรกอย่างกระทันหัน ทำให้สูญเสียการทรงตัว โดยจะควบคุมระบบเบรกของตัวล้อ ป้องกันล้อรถล้ม สำหรับในรถยนต์จะมีระบบ AEB CITY ระบบป้องกันรถหยุดกระทันหันโดยที่ผู้ขับขี่ไม่ต้องทำการเบรก เพื่อป้องกันตัวรถไม่ให้ชนกับท้ายรถคันอื่นหรือวัตถุกีดขวาง ระบบ BSP ที่สามารถสังเกตเห็นจุดบอดขณะขับขี่รถยนต์ ซึ่งสามารถเตือนให้ผู้ขับขี่ได้รู้ถึงวัตถุหรือรถจักรยานยนต์ที่อยู่ในตำแหน่งจุดบอด เป็นตำแหน่งที่คนขับไม่สามารถมองเห็นได้จากกระจกรถ และระบบ ESC ป้องกันการแหกโค้ง ป้องกันรถหลุดโค้งได้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่รถเสียการทรงตัว โดยจะควบคุมแรงเบรกระหว่างล้อให้อยู่ในทิศทางที่ต้องการ ทั้งนี้ข้อดีของเทคโนโลยีทั้ง 4 ระบบ สามารถที่จะลดการเกิดอุบัติเหตุและลดความรุนแรงบนท้องถนนได้
เดือนมิถุนายน 2560 ลงพื้นที่ภาคอีสาน จ.สุรินทร์ 2จุด คือช่วงตลาดชุมชนป่าสนสองใบ และที่สี่แยกบ้านลันแต้ คือการร่วมมือของชาวบ้านในพื้นที่ ที่ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่พยายามป้องกันและแก้ไขปัญหาจุดเสี่ยง เช่น การย้ายร้านค้าริมทาง เข้าไปในจุดที่ปลอดภัย จากเดิมที่เคยมีอุบัติเหตุรถชนร้านค้า หรือรถที่มาจอดซื้อของ ปัจจุบันไม่เกิดอุบัติเหตุอีกเลย และการสร้างด่านโรงเรียน ด่านชุมชน ด่านครอบครัว ที่มาช่วยเรื่องการลดอุบัติเหตุอย่างจริงจัง จนสามารถลดอุบัติเหตุ ลดจำนวนผู้บาดเจ็บ และผู้เสียชีวิตได้จริง จนได้เป็นสุรินทร์โมเดล ด้านการลดอุบัติเหตุ
เดือนกรกฎาคม 2560 ลงพื้นที่ภาคใต้ จ.นครศรีธรรมราช 2จุด คือช่วงโค้งบ้านในถุ้ง และสี่แยกบ้านต้นเหรียง ที่นี่ยังคงมีปัญหาเรื่องผู้ขับขี่ที่ใช้ความเร็วผ่านทางโค้ง และทางแยก จนทำให้เกิดอุบัติเหตุรุนแรง จึงเกิดการรวมตัวของชาวบ้านยื่นหนังสือให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด โดยยินยอมให้เวนคืนพื้นที่เพื่อแก้ไขทางโค้ง ให้ปลอดภัยขึ้น และโครงการรณรงค์สวมหมวกนิรภัย 100%
และเดือนสิงหาคม 2560 พื้นที่ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ 3จุด คือช่วงดอยสะเก็ด บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 118 เส้นทางระหว่างเชียงใหม่-เชียงราย ที่เป็นถนน 2ช่องทางสวนทางกัน สัญจรขึ้นลงผ่านตามแนวเขา ซึ่งเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง โดยเฉพาะช่วงฝนตก และรถที่ใช้ความเร็วสูงกว่ากำหนด ซึ่งขณะลงพื้นที่ ทีมข่าวก็ได้เจอกับอุบัติเหตุลงกระบะตกข้างทาง ผู้ขับขี่คันเกิดเหตุก็ระบุว่าช่วงนั้นฝนตก และเบรคไม่อยู่จึงทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น แต่ตนเองได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย เพราะคาดเข็มขัดนิรภัย ทำให้ไม่กระเด็นออกมานอกรถ จุดที่ 2ได้ลงพื้นที่ช่วงโค้งสันทราย ไปดูการแก้ไขช่วงทางกายภาพทางโค้ง ที่มีลักษณะเป็นตัวเอส(S) แต่ที่ยังเป็นปัญหาอยู่คือผู้ที่ขับขี่ผ่านโค้งนี้ยังใช้ความเร็วเกินกว่าที่ป้ายกำหนดไว้(ป้ายกำหนด 60กม./ชม. ค่าเฉลี่ยตรวจสอบโดย สภ.สันทราย จ.เชียงใหม่ อยู่ที่ 100กม./ชม.) จึงยังเกิดอุบัติเหตุรถชนท้าย และหลุดโค้งอยู่บ่อยครั้ง ทำให้หลายหน่วยงานต้องหาวิธีปรับพฤติกรรมผู้ขับขี่ให้ลดความเร็วช่วงขับรถเข้าทางโค้ง และได้ร่วมพูดคุยในรายการวิทยุ FM100 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีการแลกเปลี่ยนการลงพื้นที่ทั้งหมดที่ผ่านมา รวมทั้งประโยชน์ที่ได้จากการอบรม เพื่อนำไปใช้ในการรายงานข่าวตามรูปแบบของแต่ละสื่อ เพื่อจุดมุ่งหมายเดียวกันคือช่วยกันรายงานข่าว เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง ให้เกิดความปลอดภัยบนท้องถนน และหวังลดสถิติอุบัติเหตุของประเทศไทย ที่ปัจจุบันอยู่ในอันดับ 2ของโลก หรืออันดับ 1ในอาเซียน (ข้อมูลสถิติจากมูลนิธิไทยโรดส์)
ผู้สื่อข่าว : วริศรา ชาญบัณฑิตนันท์