นักวิจัยระบุการใช้ความเร็วสูงขณะขับขี่ เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุในประเทศไทย

07 สิงหาคม 2560, 12:11น.


      โครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตและรายงานข่าวเชิงวิเคราะห์ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายด้านความปลอดภัยทางถนน ที่จัดขึ้นโดยแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน มูลนิธิไทยโรดส์ และสถาบันอิศรา สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 



      นพ.ธนะพงษ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่า อยากให้ทุกคนมองถึงสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ โดยปัจจัยหลัก 4ด้าน คือ คน รถ ถนน และสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เรื่องของโชคชะตา เวรกรรม หรือปาฏิหาริย์ โดยปัจจัยด้านคน ว่ามีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุอย่างไร เช่น เมาแล้วขับ อ่อนเพลีย หลับใน หรือใช้ความเร็วสูง ปัจจัยเรื่องรถ ต้องตรวจสอบว่าระบบใดมีปัญหาหรือไม่ เช่น ระบบเบรค ยาง หรือส่วนอื่นๆ สำหรับปัจจัยด้านถนน และสิ่งแวดล้อม ที่อาจทำให้อุบัติเหตุรุนแรงขึ้น เช่น ต้นไม้ หรือเสาไฟฟ้าที่ติดกับถนน ป้ายริมทางบดบังทัศนวิสัย และทางที่ชำรุด โดยให้สื่อมวลชนต้องวิเคราะห์ถึงรากของปัญหาที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ เพื่อใช้นำเสนอเตือนประชาชน ให้ระมัดระวังอย่ามองเป็นเรื่องเล็กน้อย หรือคิดว่าใครๆก็ทำกัน เช่น การไม่สวมหมวกนิรภัย หรือการจอดรถริมถนน ที่หลายครั้งมักเกิดเหตุรถชนท้าย จนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต

     โดยมีการเปรียบเทียบสถิติผู้เสียชีวิตจาก อุบัติเหตุบนถนนมอเตอร์เวย์ กับบนทางหลวง หากเกิดเหตุจำนวน 100 ครั้งเท่ากันมอเตอร์เวย์จะมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ย 3คนแต่บนทางหลวงจะมีผู้เสียชีวิตถึง 14 คน ทั้งที่มอเตอร์เวย์รถใช้ความสูงกว่า แต่ยอดผู้เสียชีวิตนั้นต่ำกว่าบนทางหลวงทั่วไป จึงมีการสรุปปัจจัยทางด้านถนนมอเตอร์เวย์ที่แตกต่างกันได้ 4ข้อ คือ 1.มีการแบ่งประเภทรถชัดเจน 2.ไม่มีจุดตัด 3.จุดกลับรถที่ไม่ตัดกระแสรถทางตรง 4.ขอบทางในระยะปลอดภัยประมาณ 9 เมตร



      ดร.รุ่งทิพย์ โชติณภาลัย วิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อมวลชน WHO ระบุอยากให้มองถึงความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุทางถนนอยู่ที่กว่า 2แสนล้านต่อปี โดยคำนวณตั้งแต่เริ่มชน, การรักษาตัว, การสูญเสียรายได้ของผู้ประสบเหตุ และครอบครัว ซึ่งไทยมีสถิติอุบัติเหตุทางถนนสูงเป็นอันดับ 2ของโลก หรืออันดับ 1ของอาเซียน โดยสื่อมวลชนเป็นกลุ่มสำคัญในการสร้างข้อมูลเพื่อส่งต่อให้ประชาชนได้รับทราบถึงความร้ายแรงของอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทย ให้ประชาชนตระหนักถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน



      อาจารย์ณัฐพงษ์ บุญตอบ นักวิจัยอาวุโสมูลนิธิไทยโรดส์ เผยว่าสถิติการเกิดอุบัติเหตุในประเทศไทยส่วนใหญ่คือผู้ขับขี่ใช้ความเร็วสูง! ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยระบุว่าทุกคนที่ขับรถมีโอกาสใช้ความเร็ว ก็เท่ากับว่าทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ตลอดเวลา เพราะการเพิ่มความเร็ว ก็ต้องเพิ่มระยะเบรค ทางด้านวิศวกรรมสามารถสร้างสิ่งที่ช่วยให้รถชะลอความเร็วได้ เช่น ทำวงเวียน ไฟจราจร หรือเนิน ซึ่งก็จะมีงบประมาณแตกต่างกันไป สำหรับทางกฎหมายควรมีการเพิ่มโทษสำหรับผู้ที่กระทำผิดซ้ำซาก เพื่อให้ผู้ขับขี่มีความเกรงกลัวหากจะทำผิดกฏหมาย เช่นเดียวกับที่ต่างประเทศที่กฎหมายจะแรงและลงโทษอย่างจริงจัง ทำให้ประชาชนไม่กล้าละเมิดกฏหมาย เพราะกลัวโดนปรับในอัตราที่สูง หรือถึงขั้นจำคุก และขึ้นศาลหากกระทำผิดซ้ำซาก



        ท้ายที่สุดการแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนที่ง่ายที่สุด คือเริ่มจากตัวของเราเอง ที่ปฎิบัติตามกฎจราจร "กลัวตาย มากกว่ากลัวถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับ"



ผู้สื่อข่าว : วริศรา ชาญบัณฑิตนันท์

X