กรมทางหลวงร่วมแรงร่วมใจกอบกู้วิกฤตน้ำท่วมสกลนคร ระดมเจ้าหน้าที่จากทุกส่วนช่วยเมืองสกลนคร สนองนโยบาย OneTransport ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมสรุปความเสียหายของทางหลวงที่ได้รับผลกระทบจากพายุเซินกา คาดว่าอาจใช้งบซ่อมทางหลวงกว่า2,128,078,000 บาท


นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจความเสียหายของทางหลวงจากอิทธิพลของพายุเซินกา พื้นที่จังหวัดสกลนครว่า หลังจากที่เกิดน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดสกลนครที่ผ่านมาได้สั่งการให้สำนักงานทางหลวงที่ 3 (สกลนคร) แขวงทางหลวงสกลนครที่ 1, แขวงทางหลวงนครพนม และแขวงทางหลวงบึงกาฬ เร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วม ในพื้นที่จังหวัดสกลนคร ในเบื้องต้นโดยด่วนก่อน เช่น ขนย้ายสิ่งของ ช่วยเหลือในการแจกน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคแก่ประชาชน เส้นทางที่ถูกน้ำตัดขาดได้สั่งการให้ทอดทอดสะพานเบลีย์เพื่อให้รถสามารถสัญจรได้ โดยทันทีได้แก่ บริเวณสะพานขาดที่บ้านห้วยทราย อ.เมือง จ.สกลนคร ถนนสกลนคร – อุดรธานี ใน ทล.22 ตอนสูงเนิน - ท่าแร่ ที่ กม.147+700 และ บริเวณ ทางหลวงหมายเลข 223 สกลนคร - นาแก สะพานห้วยตารอด กม.18 หลังจากน้ำลดได้ระดมเจ้าหน้าที่รถบรรทุกน้ำทำความสะอาดบริเวณสี่แยกบ้านธาตุ ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร รวมทั้งนำรถบรรทุกขนย้ายประชาชนและยานพาหนะในพื้นที่จังหวัดสกลนครทำความสะอาดโรงเรียนเมืองสกลนคร อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร หลังน้ำลด ทำความสะอาดสำนักงานขนส่งจังหวัดสกลนคร อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร รวมถึงบ้านเรือนประชาชนที่ได้รับความเสียหาย

รวมถึงภารกิจตามบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในการให้กรมทางหลวงนำเครื่องจักรพร้อมกำลังเจ้าหน้าที่เข้าปฏิบัติการเร่งระบายน้ำออกจากท่าอากาศยานให้สามารถเปิดบริการเที่ยวบินได้ภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2560 โดยใช้รถแบคโฮจำนวน5คัน ขุดด้านหัวท่าอากาศยานซึ่งมีพื้นที่สูงให้เป็นรางระบายน้ำขนาดสามเมตรให้ลึกมากที่สุดพอน้ำลดระดับขุดให้ลึกเพิ่มอีกเพื่อให้น้ำระบายออกสู่หนองหารได้เร็วขึ้น ใช้หน่วย Falling Weight Deflectometer (FWD) จากสำนักวิเคราห์และตรวจสอบ กรมทางหลวง เข้าทดสอบพื้นรันย์เวย์สนามบิน เพื่อทดสอบความแข็งแรงของโครงสร้างทางด้วยน้ำหนักตกกระแทกแล้วตรวจวัดการแอ่นตัวของผิวทาง ในการทดสอบนี้ใช้แรงกระทำ เทียบเท่าแรงดันล้อเครื่องบินที่ใช้งานสนามบิน ทดสอบทุกระยะ 50 เมตร ตามแนว center line และห่างออกมาข้างละ 3 เมตร และ 6 เมตร ซ้ายและขวา ผลการทดสอบค่าการแอ่นตัวของผิวทางเมื่อรับน้ำหนักตกกระแทกแสดงว่าทางวิ่งและทางขับของสนามบินสกลนครมีความแข็งแรงเพียงพอที่จะรองรับการขึ้นลงของเครื่องบินได้อย่างปลอดภัย ระดมชุดล้างทำความสะอาด โดยใช้รถน้ำจำนวน 15 คัน แรงงานประมาณ 60 คน เข้าทำความสะอาดรันเวย์รวมถึงนำเครื่องจักรเร่งปฎิบัติซ่อมแซมถนนทางเข้าท่าอากาศยานสกลนคร


อธิบดีกรมทางหลวงยังกล่าวต่อไปอีกว่าในการดำเนินงานในครั้งนี้กรมทางหลวงได้ระดมเจ้าหน้าที่และเครื่องจักรประกอบด้วยรถบรรทุกน้ำ รถเครน รถบรรทุกน้ำ รถแบ็คโฮ รถปูยาง รถบรรทุกสิบล้อ รถปิคอัพ จากแขวงทางหลวงใกล้เคียงที่ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม รวมทั้งสิ้น 37 คัน เจ้าหน้าที่ 134 คน โดยหลังจากนี้จะประเมินผลความเสียหายของถนนตั้งแผนและซ้อมแซมต่อไป สำหรับในพื้นที่อื่นที่คาดว่าจะได้รับมวลน้ำจากจังหวัดสกลนคร เช่นจังหวัดนครพนม จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่เตรียมความพร้อมอยู่ตลอดเวลา


สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากพายุเซินกา ของกรมทางหลวงล่าสุดได้สรุปประเภทความเสียหายไว้4ประเภท คือ1.สะพานขาด/สะพานชำรุด (รวมถึงคอสะพานชำรุด/ต่อม่อทรุด) 9 แผนงาน ใช้วงเงิน 104,999,000 บาท 2.ดินสไลด์/คันทางสไลด์ 22 แผนงานใช้วงเงิน 265,085,000 บาท3.อาคารระบายน้ำชำรุดเสียหาย (ท่อ,BOX Culvert) 72 แผนงานใช้วงเงิน 844,295,000 บาท4.โครงสร้างถนนชำรุด57 แผนงานใช่วงเงิน 913,699,000 บาท รวมทั้งสิน 160 แผนงาน งบประมาณ 2, 128,078,000 บาท(ปัจจุบันสถานการณ์อุทกภัยยังไม่ยุติ ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงภายหลัง) โดยแบ่งเป็นแผนระยะสั้นและระยะกลาง ระยะสั้นได้แก่ลักษณะงานแก้ไขน้ำท่วมในระยะสั้น งานซ่อมแซมเพื่อให้จราจรผ่านได้ ในเบื้องต้นหลังเกิดน้ำท่วม จัดหาทางเลี่ยง ทางลัดทำทางเบี่ยง หรือทอดสะพานเบลีย์ งานระยะกลางได้ได้แก่งานที่บูรณะฟื้นฟูให้คืนสู่สภาพเดิม พร้อมทั้งทำการป้องกันโครงสร้างส่วนต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายลักษณะเดิมอีกในอนาคต ทั้งนี้ประชาชนที่ต้องการสอบถามสภาพเส้นทางการจราจรบนถนนทางหลวงในเขตพื้นที่ประสบอุทกภัย ต้องการความช่วยเหลือ หรือพบเหตุบนทางหลวง เช่น ต้นไม้ล้ม ทางขาด สามารถแจ้งได้ สายด่วนกรมทางหลวง 1586 ทุกวันฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง