ตามที่องค์การอนามัยโลกได้สำรวจว่าประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 2ของโลก หรือ 120,000 คนที่เสียชีวิตบนถนนในประเทศไทย โดยกรุงเทพมหานครเป็น1ใน10เมือง ที่เข้าร่วมโครงการความคิดริเริ่มเพื่อความปลอดภัยทางถนนทั่วโลก เป็นระยะเวลา5ปี (พ.ศ.2558-2562) เพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บบนท้องถนนและเพิ่มความปลอดภัยในการสัญจรให้กับผู้ใช้รถใช้ถนนในกรุงเทพมหานคร
Kelly Larson ผู้อำนวยการโครงการความปลอดภัยทางถนนมูลนิธิบลูมเบิร์กเพื่อสาธารณะประโยชน์ ได้เสนอข้อมูลว่ากรุงเทพมหานครมีสถิติผู้เสียชีวิตสูงสุดในประเทศไทยในปี 2559 พบว่าเสียชีวิตบนท้องถนนถึง 600 คน สำหรับโครงการ Global Road Safety จะมุ่งเน้นการแก้ไขปัจจัยเสี่ยง 4ประเด็นคือ การสวมหมวกนิรภัยพร้อมคาดสายรัดอย่างถูกต้อง การคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งขณะขับขี่ ดื่มแล้วไม่ขับ และลดความเร็วขณะขับขี่ รวมทั้งการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง โดยร่วมกับทางกองบัญชาการตำรวจนครบาลเรื่องการบังคับใช้กฎหมายให้กับตำรวจในพื้นที่กรุงเทพมหานครในการวางแผนการจราจร การตั้งด่าน และการสื่อสารของเจ้าหน้าที่ สำหรับการออกแบบและสำรวจความปลอดภัยทางถนน มีการเสนอแนะการปรับปรุงถนนต้นแบบของกรุงเทพมหานคร 3เส้นทาง คือ ถนนสีลม ถนนอโศก และถนนเยาวราช ซึ่งได้มีการปรับปรุงไปแล้วบางส่วน โดยได้มีการเผยสถิติที่ได้สำรวจพบถึงปัจจัยเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุจากผู้ใช้รถใช้ถนนดังนี้
นายวันชัย ถนอมศักดิ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวขอบคุณทางมูลนิธิบลูมเบิร์กที่เข้ามาช่วยและเสริมสร้างศักยภาพของเจ้าหน้าที่ให้เพิ่มขีดความสามารถในการแก้ไขปัญหาและการจัดการที่ดีขึ้น โดยเผยว่ากรุงเทพมหานครมีจำนวนรถมอเตอร์ไซต์ที่จดทะเบียนราว 3.2 ล้านคันและรถยนต์ราว 4.95ล้านคัน โดยผู้เสียชีวิตคือเพศชาย 85% ซึ่ง 65% ของผู้เสียชีวิตเป็นประชากรวัยนักเรียนนักศึกษาและวัยทำงานช่วงอายุ 16-55 ปีทำให้ทางกรุงเทพมหานครต้องวางแผน การจัดการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางท้องถนน โดยตอนนี้ได้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เช่นเรื่องเมาแล้วขับ การสวมหมวกนิรภัยอย่างเหมาะสมทุกครั้งขณะขี่มอเตอร์ไซค์ การสวมเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งขณะขับขี่ และเรื่องการใช้ที่นั่งเด็กบนรถอย่างถูกต้อง โดยย้ำว่าการสร้างจิตสำนึกของประชาชนนั้นมีผลอย่างยิ่งโดยเฉพาะเรื่องพฤติกรรมในการขับขี่ที่อาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุ ทางด้านกายภาพของถนนที่เป็นปัจจัยในการเกิดอุบัติเหตุนั้น ต้องมีการออกแบบและแก้ไขต่อไป ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการจัดการร้านค้าแผงลอย ทำให้มีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยขึ้น
โดยขณะนี้กรุงเทพมหานครได้มีการวางแผนการสำรวจจุดเสี่ยงบนถนน การรณณรงค์และการสำรวจข้อมูลสถิติเพื่อนำมาใช้ในการวางแผนและสร้างความปลอดภัยทางถนนทั้งระบบร่วมกับทางมูลนิธิบลูมเบิร์กอย่างจริงจัง
ผู้สื่อข่าว : วริศรา ชาญบัณฑิตนันท์