จากกรณีนักศึกษาแพทย์คนหนึ่งโพสต์เฟซบุ๊คเล่าเหตุการณ์ระหว่างกลับบ้านคืนวันที่ 21 ก.ค. 2560 พบเห็นอุบัติเหตุบนโทลล์เวย์ช่วงรังสิต จึงจอดให้การช่วยเหลือและโทรศัพท์ติดต่อไปยังหน่วยงานต่างๆ แต่กลับถูกปฏิเสธในลักษณะเกี่ยงงานกัน หนำซ้ำเมื่อผู้บาดเจ็บฟื้นขึ้นกลับถูกต่อว่าเพราะเข้าใจผิด
(1).jpg)
นักศึกษาแพทย์คนดังกล่าว เปิดเผยกับ JS100 ว่าตนเสียความรู้สึกมากที่เกี่ยงกัน ให้การช่วยเหลือ ซึ่งขณะนี้หน่วยงานต่างๆได้ติดต่อกลับมาส่วนตัวว่าจะดำเนินการตรวจสอบว่าเป็นเจ้าหน้าที่คนใดบ้างที่เกี่ยวข้อง รวมถึงรายละเอียดในการประสานงานรับเรื่อง

ทางด้าน นพ.พรเทพ แซ่เฮ้ง ผู้อำนวยการศูนย์เอราวัณ เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบไฟล์บันทึกเสียงสนทนา กรณีดังกล่าวพื้นที่เกิดเหตุอยู่ในจังหวัดปทุมธานี เมื่อโทรเบอร์ฉุกเฉิน 1669 จึงติดที่ศูนย์สั่งการจังหวัดปทุมธานี ส่วนที่เจ้าหน้าที่ให้ติดต่อศูนย์เอราวัณ 1646 เพราะเข้าใจว่าเป็นพื้นที่กรุงเทพมหานคร ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างตรวจสอบว่าเจ้าหน้าที่คนใดเข้าเวร อย่างไรก็ตามกรณีเหตุเกินบนโทลล์เวย์ ตามหลักการจะแจ้งหน่วยงานกู้ภัยของโทลล์เวย์เพื่อดำเนินการเบื้องต้นเนื่องจากเป็นพื้นที่เฉพาะ และจัดทีมสนับสนุนตามความรุนแรงของเหตุการณ์ โดยศูนย์เอราวัณได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ให้ถือเป็นหน้าที่ในการช่วยประสานงานกับหน่วยที่เกี่ยวข้อง ส่วนภาพที่ผู้ร้องแสดงประวัติการโทรพบว่าเวลาที่โทรสายด่วนแต่ละครั้งห่างกัน 1 นาที ซึ่งรวมเวลาที่มีการสนทนาในแต่ละสายถือว่านานสำหรับเคสฉุกเฉิน และอาจจะนานมากตามความรู้สึกขณะนั้น ทั้งนี้ศูนย์เอราวัณถือว่าการแสดงความคิดเห็นต่างๆที่เกี่ยวข้องกับระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ถือเป็นโอกาสในการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น
.jpg)
ขณะที่ นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวถือเป็นบทเรียนที่ควรจะมีการประสานงานกันเองระหว่างหน่วยงาน ซึ่งหลังจากนี้จะต้องหารือร่วมกันกับหน่วยงานที่กำกับดูแลพื้นที่เฉพาะ อาทิ บริษัท ทางด่วนกรุงเทพฯ และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ที่ดูแลรับผิดชอบบนทางด่วนต่อไป