อาจารย์คณะวิศวกรรรม แนะวิธีการปฏิบัติหากเบรคขัดข้องขณะขับรถลงเขา

09 มีนาคม 2560, 12:12น.


จากกรณีอุบัติเหตุรถบัสพานักเรียนไปทัศนศึกษาตกเขาบน ทล.304 ต.บุพราหมณ์ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา(9มี.ค.60) ผศ.ดร.ก่อเกียรติ บุญชูกุศล อาจารย์พิเศษ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ผ่าน จส.100 ว่าโดยทั่วไปรถขนาดใหญ่และรถขนาดเล็กมีระบบเบรคแตกต่างกัน รถขนาดเล็กจะใช้ระบบเบรคแบบไฮโดรลิค เพียงเหยียบเบรคปกติ ก้านเบรคก็จะทำงานร่วมกับระบบเบรคได้ ขณะที่รถขนาดใหญ่ มีน้ำหนักมากกว่า ต้องมีกระบอกหม้อลมเข้ามาช่วยอีกแรง จึงจะรับน้ำหนักได้สมบูรณ์




(ภาพจาก : sphamaejadeemai , yakkai)


การขับรถลงมาจากเขาหรือทางลาดชัน รถจะมีความเร็วบวกกับน้ำหนักรถ หากคนขับใช้งานเบรคหนัก อาจทำให้หม้อลมรั่ว หรือการย้ำเบรคหลายครั้ง อาจทำให้ผ้าเบรคหลุดได้ เพราะรถขนาดใหญ่จะมีผ้าเบรคอยู่หลายแผ่นช่วยทำงาน ดังนั้นการใช้เกียร์ต่ำลงมาจากเขาหรือทางลาดชันเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ควรดูจังหวะของรอบเครื่องเกียร์ 1-3 สลับให้สัมพันธ์กัน เพราะถ้าไม่สลับเลยหรือที่เรียกว่า "ลากเกียร์" จะทำให้เกียร์ชำรุดก็ได้ ทางที่ดีก่อนเดินทางควรทดลองขับให้รู้จังหวะเสียก่อน




(ภาพจาก : Chai Chmk ,Baku MoThai)


อย่างไรก็ตามหากขณะขับรถพบว่าระบบเบรคผิดปกติ ห้ามดับเครื่องยนต์ทันที เพราะจะยิ่งทำให้ระบบเบรคและพวงมาลัยไม่ทำงาน ต้องตั้งสติประคองรถ พยายามใช้เกียร์ต่ำและลดเกียร์ลงไปเรื่อยๆ รถจะช้าลงโดยอัตโนมัติ แล้วจะควบคุมรถได้ง่ายขึ้น จากนั้นจึงประคองรถจอดข้างทางให้สนิท ดึงเบรคมือและดับเครื่องยนต์ ส่วนความเชื่อผิดๆที่บอกต่อกันว่า รถที่เป็นเกียร์ออโต้หากเปลี่ยนเป็นแบบเข้าเกียร์เองหรือขับแบบเกียร์ต่ำ จะทำให้"เกียร์จะเสียหาย" ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เพราะบริษัทผู้ผลิตรถได้คำนวณการใช้งานไว้ทั้งหมดแล้ว ไม่มีผลทำให้เกียร์ชำรุดแน่นอน แต่อาจมีผลกับการสิ้นเปลืองน้ำมันหรือสึกหลอเร็วเพราะลากเกียร์มากกว่า ดังนั้นขอให้จำไว้เสมอ หากต้องขับรถขึ้นลงเขา ต้องใช้เกียร์ต่ำ เพราะจะทำให้ควบคุมพวงมาลัยและความเร็วของรถได้ง่ายขึ้น และลดจังหวะการใช้เบรค เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเอง


อภิสุข เวทยวิศิษฏ์
X