จุดเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ “ ชนซ้ำซ้อน! ” บนทางหลวงหมายเลข 41 ช่วงอำเภอจุฬาภรณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช

30 สิงหาคม 2559, 18:00น.


          ภาคีเครือข่ายการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ลงพื้นที่ตรวจสอบจุดเสี่ยงบนทางหลวงหมายเลข41 ช่วงกิโลเมตรที่ 320-321 จังหวัดนครศรีธรรมราช หลังเกิดอุบัติเหตุชนซ้ำซ้อน จนทำให้มีผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บจำนวนมาก



 



            ทางหลวงหมายเลข 41 (สี่แยกปฐมพร-พัทลุง) เป็นทางสายหลักของภาคใต้ เส้นทางเริ่มต้นจากแยกปฐมพร ถนนเพชรเกษม จังหวัดชุมพร ผ่านจังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดนครศรีธรรมราช และสิ้นสุดที่จังหวัดพัทลุง ระยะทางรวม 382.616 กิโลเมตร เป็นถนน 4 ช่องจราจรตลอดสาย แบ่งเป็น 2 ช่องจราจรในแต่ละฝั่ง มีร่องกลางถนนกั้นระหว่าง 2ฝั่ง โดยช่วงกิโลเมตรที่ 320-321 เขตจังหวัดนครศรีธรรมราช เกิดอุบัติเหตุรุนแรง 2 ครั้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3คน บาดเจ็บอีกกว่า 20คน!







            จากการลงสำรวจจุดเสี่ยงโดยภาคีเครือข่ายการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน พร้อมทีมข่าวในพื้นที่ดังกล่าว ยังพบร่องรอยของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทั้งเศษสิ่งของจากรถ รอยเบรก และต้นไม้หักจากการถูกชนอย่างแรง





            โดยเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2559 เวลา 03.30 น. เกิดอุบัติเหตุชนซ้ำซ้อน จนทำให้มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บ เป็นเหตุรถพ่วง 22 ล้อบรรทุกปูน ชนท้ายรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ที่เบรกกะทันหันจากรถมอเตอร์ไซค์พ่วงข้างขับกินช่องทางเข้ามา ทำให้รถพ่วงบรรทุกปูนเสียหลักไถลชนกับต้นไม้ พุ่งลงร่องกลาง แต่ส่วนหางพ่วงยังขวางบนถนน คนขับรถบรรทุกถูกอัดก๊อปปี้ติดอยู่ในรถ แต่เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 30 นาที ขณะเจ้าหน้าที่กำลังช่วยเหลือคนขับรถพ่วง รถบัสโดยสารปรับอากาศ สายกรุงเทพ-ยะลา-เบตง พุ่งชนซ้ำอีก ทำให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสารรถบัสเสียชีวิตทันที 2 คน และมีผู้บาดเจ็บ 21 คน







            การสอบสวนด้านกายภาพถนนและสภาพแวดล้อม

1. ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 41 บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 320+800 ลักษณะผิวทางเป็นถนนแอสฟัลท์ติก คอนกรีต 4 ช่องจราจร ไม่มีไฟฟ้าส่องสว่าง

2. ถนนกว้างช่องจราจรละ 3.5 เมตร ไหล่ทางด้านซ้ายกว้าง 2.5 เมตร ไหล่ทางด้านขวากว้าง 1.3 เมตร ขั้นด้วยร่องน้ำกลางถนนกว้าง 9.6 เมตร สภาพเส้นจราจรบนผิวทางชัดเจน

3. มีต้นไม้ตลอดแนวร่องน้ำและข้างทาง ห่างกันทุกๆ 5-6 เมตร

4. ผิวทางอยู่ในสภาพสมบูรณ์







           ปัยจัยด้านบุคคล

1. คนขับรถบรรทุกขับรถด้วยความเร็วสูง

2. ระหว่างการช่วยเหลืออุบัติเหตุแรก ไม่มีการจัดการด้านความปลอดภัยระหว่างเกิดอุบัติเหตุ

3. คนขับรถทัวร์ขับรถด้วยความเร็วสูง และเวลาตอนกลางคืนไม่สามารถมองเห็นท้ายรถบรรทุกที่ยื่นออกมาบนถนน

4. ผู้โดยสารรถทัวร์ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ทำให้กระแทกกับวัตถุแข็งภายในรถ





            ปัจจัยด้านยานพาหนะ

1. ความเร็วของรถทัวร์กับการปะทะคูระบายน้ำ ทำให้เก้าอี้โดยสารหลุดออกจากตัวรถ

2. ระบบไฟฟ้าส่วนท้ายรถบรรทุกกึ่งพ่วงไม่ทำงาน

3. รถทัวร์ได้รับความเสียหายด้านหน้าและด้านขวาเป็นหลัก





            ปัจจัยด้านถนนและสิ่งแวดล้อม

1. มีต้นไม้ในเขตปลอดภัยริมทาง

2. ต้นไม้ขนาด เส้นผ่านศูนย์กลาง 35 เซนติเมตร หัก 1ต้น

3. หลักนำทางหัก 2 ต้น





            ทุกอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ย่อมนำมาซึ่งความสูญเสีย และที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือการเกิด “ อุบัติเหตุชนซ้ำซ้อน ” อีกหนึ่งปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน! โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาชนทุกคนต้องร่วมมือกันช่วยอย่างจริงจังเสียที...





ขอขอบคุณข้อมูลโดย

1. ดร.ปิติ จันทรุไทย อาจารย์โปรแกรมเทคโนโลยีการโยธา คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช

2. สถานีตำรวจภูธร จังหวัดนครศรีธรรมราช

3. สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดนครศรีธรรมราช

ผู้สื่อข่าว : วริศรา ชาญบัณฑิตนันท์

X