!-- AdAsia Headcode -->

"ฝนตกน้ำท่วม" กับสาเหตุเดิม ที่ยังไร้ทางแก้

25 สิงหาคม 2559, 13:26น.


การแก้ปัญหา"ฝนตกน้ำท่วมในกทม." เหมือนเป็นปัญหาโลกแตกคล้ายการแก้ปัญหา"รถติดในกทม." สาเหตุหลักเป็นผลจากการขยายตัวของเมืองที่มีความแออัดมากขึ้นเรื่อยๆ พื้นที่ที่เคยเป็นทางน้ำไหลผ่าน ถูกทับด้วยสิ่งปลูกสร้าง แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือ"ระบบระบายน้ำ" ที่ถูกสร้างเป็นรากฐานเมืองหลวงเมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้ว 






ระบบท่อระบายน้ำในกทม. สร้างเมื่อปีพ.ศ.2520 ออกแบบให้สามารถระบายน้ำได้ 60 มม./ชม. ซึ่งหมายถึง เมื่อมีฝนตกลงมา น้ำจะไหลลงท่อระบายน้ำขนาดต่างๆที่อยู่ตามแนวถนนและทางเท้า รองรับปริมาณได้สูงสุด 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง เพื่อระบายสู่คลอง ออกไปยังสถานสูบน้ำ ก่อนไหลลงแม่น้ำ 




หากปริมาณน้ำมากเกินกว่านั้น อย่างเช่นเมื่อคืน(25ส.ค.) ที่มีปริมาณน้ำฝนเกิน 100 มม./ชม. หลายพื้นที่ น้ำจะท่วมรอการระบายลงท่อ ซึ่งสมัยก่อนยังมีพื้นที่ว่างรอรับน้ำอีก เช่น ผิวดิน สนามหญ้า ลานกว้าง หนองน้ำ ป่าปรือ ฯลฯ แต่ด้วยการขยายตัวของประชากรและสิ่งปลูกสร้างในเมือง ทำให้ปัจจุบันมีบ้านพักอาศัย อาคาร ตึก ฯลฯ เข้ามาแทนที่พื้นรับน้ำเดิม ยิ่งสร้างใหม่ก็ยิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ เป็นสาเหตุหลักให้น้ำที่รอการระบายไหลเข้ามาท่วมบนถนนแทน ทั้งที่ปริมาณฝนยังคงมีค่าเฉลี่ยเท่าเดิมที่ 1,500 มิลลิเมตรต่อปี และส่วนใหญ่จะตกหนักในเดือนกันยายน 




แนวทางการขยายระบบระบายน้ำให้มากกว่า 60 มม./ชม. นับเป็นปัญหาใหญ่สำหรับในเขตเมือง หากคิดภาพอย่างง่ายที่สุด ปิดการจราจรถนนสุขุมวิท เพชรบุรี ลาดพร้าว ฯลฯ เพื่อเปิดผิวถนนรื้อท่อระบายเก่า และใส่ของใหม่ไป ใช้เวลาดำเนินการ 6 เดือน แค่คิดก็โกลาหล! การจราจรติดขัด กระทบความเป็นอยู่ของประชาชน และต้องใช้งบประมาณมากมายมหาศาล ปัจจัยเหล่านี้ทำให้การแก้ปัญหาน้ำท่วมในกทม.เป็นเหมือนปัญหาโลกแตกนั่นเอง 






แต่ใช่ว่าจะทำอะไรไม่ได้! เพราะปัจจุบันเขตเมืองรอบนอกที่สร้างขึ้นใหม่ เช่น โซนตะวันออก รามอินทรา มีนบุรี ออกแบบท่อระบายน้ำให้รองรับได้ถึง 80 มม./ชม. แล้ว ส่วนเขตเมืองรอบในเมื่อขยายท่อเดิมไม่ได้ จึงมีแนวคิดที่จะสร้างท่อระบายน้ำเสริม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำให้มากกว่า 60 มม./ชม. เพราะระบบคลองที่รอรับน้ำสามารถรองรับได้เกิน 80 มม./ชม. อยู่แล้ว เช่นเดียวกับระบบอุโมงค์ระบายน้ำที่ตอนนี้มีแล้ว 2 แห่ง ได้แก่ อุโมงค์มักกะสัน และอุโมงค์พระราม9 และที่กำลังจะสร้างเสร็จตามกำหนดเดิมในปลายปี2559 คือ อุโมงค์บางซื่อ จะสามารถระบายน้ำจากต้นอุโมงค์ไปสู่ปลายอุโมงค์ลงแม่น้ำได้เร็วขึ้น 




อย่างไรก็ตาม ขนาดท่อระบายน้ำไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ถึงประสิทธิภาพการระบายน้ำ แต่ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายด้าน ทั้งลักษณะอากาศ ลักษณะภูมิประเทศ และสภาพแวดล้อม เช่น เมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ก็มีประสิทธิภาพการระบายน้ำฝนไม่เกิน 60 มม./ชม. เช่นเดียวกัน แต่ยังสามารถรับมือได้






หันกลับมาดูในกทม. สิ่งที่พอจะทำได้ก่อนการขยายระบบท่อระบายน้ำ คือการแก้ปัญหา"ขยะ"ตามท่อระบายน้ำ เพราะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ประสิทธิภาพการระบายน้ำลดลงได้มากถึงร้อยละ50 สอดคล้องกับที่เวลาฝนตกน้ำท่วมจะมีเจ้าหน้าที่สำนักการระบายน้ำลงพื้นที่ เพื่อดูว่ามีขยะไปอุดตันตรงไหนจุดใดหรือไม่ และหากอยู่ใกล้แนวคลองก็สามารถใช้เครื่องสูบน้ำช่วยได้ในระดับหนึ่ง 




ดังนั้น ชาว กทม. ต้องเริ่มที่ตนเอง ใช้ 60 มม./ชม. ที่มี ให้เต็มประสิทธิภาพเสียก่อน! 




by: อภิสุข เวทยวิศิษฏ์


สนับสนุนข้อมูลจาก สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร


สามารถติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวของสถานีวิทยุ จส.100 ได้ทาง


        

สามารถดาวน์โหลด JS100 Application ได้ทั้งระบบ IOS และ Andriod ฟรี!!

    

X