“ตานสลากข้าวหม้อ” ประเพณีพื้นเมืองนี้ เป็นประเพณีที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัวที่เป็นหนึ่งเดียวในจังหวัดแพร่และหนึ่งเดียวในประเทศไทย ถูกจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงเข้าพรรษา ของวัดพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความปรองดองสมานฉันท์ในครอบครัวและในมุมมองศาสนา
ทำไมต้องใช้หม้อดินเป็นภาชนะ?
“หม้อดินเป็นการสร้างกุศโลบาย ให้ผู้คนได้รู้จักการใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท เปรียบชีวิตดังเหมือนหม้อดิน ซึ่งแตกสลายได้ง่าย ต้องประคับประคองชีวิตให้ดี”
ประเพณี “ตานสลากข้าวหม้อ” คือการใช้หม้อดิน (หม้อที่ปั้นด้วยดินและนำไปเผา) เป็นภาชนะบรรจุด้วยเครื่องไทยธรรม ประกอบด้วย พริก ข้าวสาร เกลือ หอม เมี่ยง หมาก ไม้ขีดไฟ อาหารคาว อาหารหวาน ผลไม้ตามฤดูกาลเป็นต้น ปัจจุบันมี “ยอด” หมายถึง เงิน ธนบัตร เสียบที่ไม้เหลาให้เล็ก ๆ ยาวประมาณฟุตครึ่ง จะเป็นเงินจำนวนเท่าไรก็อยู่ที่กำลังศรัทธา พร้อมกับดอกไม้มัดรวมกับยอดเงิน ในสมัยก่อนมักจะเป็นดอกเข็ม ดอกซ่อมพอ (สีเหลือง) ถวายพระภิกษุสงฆ์ไม่เจาะจงรูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นพระภิกษุสงฆ์จากวัดต่างๆ ที่จะมาโดยไม่มีการนิมนต์มาก่อน
ก่อนถึงวันงาน 1 วัน หรือเรียกว่า วันดา (วันสุกดิบ ) ชาวบ้านจะเตรียมหา เครื่องไทยธรรม ทำขนม และซื้อหม้อดิน เขียน”เส้นตาน” เป็นชื่อตนเอง(ผู้ถวาย) บรรจุลงในหม้อดิน นำเชือก ปัจจุบันใช้ฟางขัดเป็นตาข่ายเพื่อรองรับหม้อดินให้สะดวกในการหิ้วหรือหาบไปวัด
เมื่อถึงวันงาน ประเพณีกิ๋นสลากข้าวหม้อ ในวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 ใต้ เดือน 11 เหนือ ซึ่งเป็นวันเดือนดับ ชาวบ้านที่อยู่บริเวณใกล้เคียงบริเวณวัดพระธาตุช่อแฮหรือหมู่บ้านอื่นจะนำหม้อดินเป็นภาชนะบรรจุเครื่องไทยธรรมข้างต้นไปที่วัดพระธาตุช่อแฮ ซึ่งตอนนี้เรียกว่าสลากข้าวหม้อ ไปวางรวมกันไว้บริเวณในวัดพระธาตุช่อแฮ หน้าหลวงพ่อช่อแฮ พระประธานในวัด
ซึ่งในปีนี้ ประเพณี “ตานสลากข้าวหม้อ” ณ วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง จะจัดขึ้นในวันพฤหัสบดี ที่ ๑ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๙ ตรงกับวันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๙ ใต้ เดือน ๑๑ เหนือ (๑๑ ดับ) ตั้งแต่เวลา ๐๗.๐๐ น. เป็นต้นไป
จึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดแพร่ และนักท่องเที่ยวจากจังหวัดอื่นๆ มาร่วมงาน สืบสานประเพณีพื้นเมืองอันดีงามนี้
เนื้อหา : Phrae.tv
ภาพข่าว : Tat Phrae
สามารถติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวของสถานีวิทยุ จส.100 ได้ทาง
สามารถดาวน์โหลด JS100 Application ได้ทั้งระบบ IOS และ Andriod ฟรี!!