นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
ร้อยนิทรรศน์ยลรัตนโกสินทร์
ชุด “ ๗ รอบพระนักษัตร สานรักแห่งความยั่งยืน”
ณ โถงนิทรรศการหมุนเวียน อาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์
วันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๕๙ – ๔ กันยายน ๒๕๕๙
แนวคิดหลัก
ด้วยพุทธศักราช ๒๕๕๙ เป็นปีมหามงคลที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๙ จึงนับเป็นช่วงเวลาสำคัญยิ่งที่ปวงชนชาวไทยจะได้มีโอกาสและประจักษ์แจ้งในน้ำพระราชหฤทัย พระมหากรุณาธิคุณด้านต่างๆ ตลอดจนพระราชกรณียกิจที่ทรงทำมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน อันส่งผลสัมฤทธิ์ถึงแผ่นดินไทยและคนไทยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
วัตถุประสงค์
การจัดนิทรรศการครั้งนี้มุ่งไปที่กลุ่มเป้าหมายหลัก ๒ กลุ่ม คือประชาชนทั่วไป และกลุ่มหนุ่มสาวรุ่นใหม่และเยาวชน
๑.เพื่อกลุ่มประชาชนทั่วไปได้กลับมาทบทวนเรื่องราวของพระองค์ที่เคยได้รู้ได้ประจักษ์ถึงผลสัมฤทธิ์
ที่จับต้องได้ เห็นจริง
๒. มุ่งหมายให้กลุ่มหนุ่มสาวรุ่นใหม่ และเยาวชนซึ่งอาจไม่ค่อยได้มีโอกาสเห็นการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงงานช่วยเหลือคนไทยในภูมิภาคต่างๆ สามารถเข้ามาศึกษา ทำความเข้าใจรับรู้เรื่องราว พระราชประวัติ แนวพระราชดำริ และผลสัมฤทธิ์ของโครงการตามพระราชดำริ ซึ่งได้ทรงงานมาอย่างต่อเนื่อง
รายละเอียดนิทรรศการ
๑. หมวดพระราชประวัติ “ ๘๔พรรษา บรมราชินีนาถ ”
ลักษณะการนำเสนอนิทรรศการส่วนที่ ๑ มีลักษณะพื้นที่เป็นครึ่งวงกลม สะท้อนถึงรูปแบบ โถงต้อนรับที่จัดแสดงพระราชประวัติอย่างสง่างาม และสมพระเกียรติ
เทคนิคพิเศษ : นิทรรศการส่วนที่ ๑ ใช้ระบบ Touch screen โดยนำเสนอประราชประวัติในแต่ละช่วงวัย และตัวแทนบุคคลที่สะท้อนแนวคิด จำนวนเทคนิค : ๑จอพร้อมบอร์ดเรื่องราวทั้ง ๗ ช่วง เล่าผ่านบุคคลที่อยู่ในช่วงเวลานั้น
เนื้อหา แบ่งเป็น ๗ ตอน
๑. ต้นธารชีวิต แรกประสูติ – ๑๒ พรรษา
๒. แสงแห่งรัก๑๓พรรษา – ๒๔ พรรษา
๓. คู่พระราชหฤทัย๒๕ พรรษา – ๓๖พรรษา
๔. กำเนิดศิลปาชีพ ๓๗ พรรษา – ๔๘ พรรษา
๕. รักษาแผ่นดินแม่๔๙ พรรษา – ๖๐ พรรษา
๖. สร้างความมั่นคงทางอาหาร๖๑ พรรษา – ๗๒ พรรษา
๗. สายธารพระมหากรุณา...ไม่สิ้นสุดตั้งแต่ ๗๓ พรรษา – จนถึงปัจจุบัน
๒. หมวดหอภาพนิ่งลักษณะการนำเสนอ
เป็นการรวบรวมพระฉายาลักษณ์การทรงงาน จำนวน ๘๔ ภาพ โดยแบ่งหมวดหมู่คือ การทรงงานเคียงคู่กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับพระราชโอรส พระราชธิดา และการทรงงานท่ามกลางประชาชน
๓. หมวดพระราชกรณียกิจ (โครงการพระราชดำริ)
๓.๑ ศิลป์แห่งแผ่นดิน
ลักษณะการนำเสนอ: พระราชกรณียกิจด้านส่งเสริมศิลปาชีพให้เป็นอาชีพเสริมรายได้และฟื้นฟูงานหัตถกรรมฝีมือชาวบ้านเป็นงานศิลป์แผ่นดิน
เทคนิคพิเศษ:AR Code หรือ Augmented Reality เทคนิคที่ช่วยให้แผ่นข้อมูลธรรมดากลายเป็นภาพ ๓ มิติ จำนวนเทคนิค : ๑ จอ และ๗ ภาพวิจิตรศิลป์
สัปคับพระคชาธาร
สุพรรณเภตรา
บุษบกจตุรมุขพิมาน
๓.๒ ศิลป์สร้างชีวิต
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงทุ่มเทกำลังพระวรกายฟื้นฟูส่งเสริมหัตถศิลป์พื้นบ้าน
ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกลืมเลือนไปให้กลับมาเป็นหัตถกรรมสร้างรายได้ของราษฎร ตราบจนปัจจุบันมีศูนย์ฯ และโครงการศิลปาชีพกระจายอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ๑๔๔ แห่ง
ลักษณะการนำเสนอนำงานศิลปาชีพ ดังเช่น ผ้าไหม เครื่องปั้น แกะสลัก มาจัดแสดง
๓.๓ ฟื้นแผ่นดินคืนผืนป่า คืนธารา คืนความยั่งยืน
เนื้อหาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงตรากตรำพระวรกายเสด็จพระราชดำเนินไปทรงงานอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั่วทุกภูมิภาคจากผืนป่าต้นน้ำลำธารในขุนเขาภาคเหนือ ระบบนิเวศน์ แม่น้ำ ป่าชายเลน จนถึงท้องทะเลไทย
ลักษณะการนำเสนอนำเสนอภาพ Hologram แสดงความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่าไม้ / แม่น้ำ ป่าชายเลน และท้องทะเลที่อุดมสมบูรณ์มากขึ้นเนื่องจากโครงการพระราชดำริ
๓.๔ ทรัพย์จากผืนดิน สินในสายน้ำ
เนื้อหาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะฟื้นฟูรักษาแผ่นดินไทยให้บริบูรณ์ด้วยสัตว์และพืชพันธุ์ เพี่อให้คนไทยอยู่ดีกินดีโปรดให้จัดตั้ง ธนาคารอาหารชุมชน สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงในภาคเหนือ โครงการฟาร์มตัวอย่างอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในหลายภูมิภาคของประเทศ เพื่อเป็นแหล่งสร้างงาน สร้างรายได้และเป็นแหล่งอาหารที่ปลอดภัยจากสารพิษของคนไทย
ลักษณะการนำเสนอจัดจำลองฟาร์มตัวอย่าง โดยนำผลผลิตมาจัดแสดงและจำหน่าย
๓.๕ ประทีปธรรม แสงปัญญาส่องฟ้าไทย
เนื้อหาพระราชกรณียกิจด้านการศึกษาและศาสนา ดังพระราชดำรัส
“ ความเจริญทางด้านวัตถุจำต้องควบคู่ไปกับความเจริญทางด้านจิตใจ จึงจะทำให้ชีวิตมนุษย์สมบูรณ์และมีค่า...”
“... ข้าพเจ้าเห็นว่าบุคคลแม้จะเป็นผู้ที่ขาดความมั่งคั่งทางวัตถุ แต่ร่ำรวยยิ่งนักในด้านคุณธรรม
ต้องนับว่าเป็นผู้ที่ทางพระพุทธศาสนายกย่องว่าเจริญแท้...” พระราชดำรัส สมเด็จพระบรมราชินีนาถ
ลักษณะการนำเสนอSound Dome หรือ Info Screen
๓.๖ พระมหากรุณาธิคุณก่อเกื้อคุณภาพชีวิต
เนื้อหา : “ ...เราจะมีความสุขตามลำพังโดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของคนอื่นอีกหลายคนที่แวดล้อมเราอยู่นั้นไม่ได้ ผู้มีเมตตาจิตหวังประโยชน์ส่วนรวม ย่อมรู้จักแบ่งปันความสุขเพื่อผู้อื่นและพร้อมที่จะช่วยบรรเทาความทุกข์ของผู้อื่นตามกำลังและโอกาสเสมอ...” พระราชดำรัส สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ๒ มีนาคม ๒๕๑๐ ในการเสด็จพระราชดำเนินของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถไปทรงเยี่ยมราษฎรในภูมิภาคต่างๆ เมื่อทรงพบเห็นผู้ป่วยก็จะมีพระราชกระแสรับสั่งถามถึงอาการตลอดจนทรงจดบันทึกด้วยพระองค์เอง โปรดให้แพทย์ที่ตามเสด็จตรวจรักษาในเบื้องต้นหากผู้ป่วยรายใดมีอาการหนักต้องรักษาต่อเนื่องก็ให้ส่งต่อไปรักษาในโรงพยาบาลท้องถิ่นหรือในกรุงเทพฯ และทรงรับไว้เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์การพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราษฎรผู้เจ็บป่วยนั้นมิได้เพียงจำกัดเฉพาะผู้ที่ทรงพบหรือมาเฝ้าฯรับเสด็จเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้ที่เจ็บป่วยจากการทำคุณประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติอีกด้วยยิ่งกว่านั้นพระองค์ยังได้ทรงติดตามความคืบหน้าในการรักษาและพระราชทานกำลังใจตลอดจนทรงดูแลไปถึงครอบครัวของผู้ป่วยที่เดือดร้อนตามความเหมาะสม เช่นการพระราชทานเงินช่วยค่าครองชีพ หรือการศึกษาแก่บุตรของผู้ป่วยที่ไม่สามารถดูแลครอบครัวได้
ลักษณะการนำเสนอ Info Screen ภาพพระราชกรณียกิจ กับผู้ป่วย
๓.๗พระเมตตาเกริกฟ้า ...World Reknown
เนื้อหาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงภาคภูมิในความเป็นคนไทย ทรงมุ่งมั่นทำหน้าที่ตัวแทนคนไทย ให้นานาประเทศได้รู้จัก และชื่นชมความเป็นไทยในแง่มุมต่างๆ ในการเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ ทรงบำเพ็ญพระราชกิจได้อย่างสำเร็จงดงาม ดังเช่น การโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชียยุโรป อเมริกา และออสเตรเลีย อย่างเป็นทางการ ในช่วงปี ๒๕๐๒ – ๒๕๑๐ ในยามทรงต้อนรับพระราชอาคันตุกะเยือนแผ่นดินไทย หรือในโอกาสทรงเป็นผู้แทนพระองค์เสด็จฯเยือนมิตรประเทศ ทรงได้รับการยกย่องและการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเหรียญรางวัลสดุดีจากองค์กรระหว่างประเทศมากมาย ดังตัวอย่างบางส่วนเช่น พระเกียรติคุณด้านพัฒนามนุษย์ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ทูลเกล้าฯถวายเหรียญเซเรส ปี ๒๕๒๒ พระเกียรติคุณด้านอนุรักษ์และพัฒนาศิลป์ องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเหรียญโบโรพุทโธ พระเกียรติคุณด้านสิ่งแวดล้อม ทรงได้รับรางวัลสดุดีจากมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าสากล และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย เป็นต้น
ลักษณะการนำเสนอInfo Screen
๔. หมวด Workshop
หมวดนี้เป็นการจัดกิจกรรมทุกวันเสาร์ ตลอดการจัดงาน จำนวน ๔ ครั้ง ประกอบด้วย
กิจกรรม Workshop ที่ ๑ “สเต็กปลาเทราต์รมควัน”
เป็นการนำผลผลิตทั้งพืชผักและสัตว์ จากโครงการฟาร์มตัวอย่างฯ มาสาธิตเมนูอาหาร เช่น สลัด สเต็คปลาเทราต์รมควัน โดยผู้ที่ร่วมกิจกรรมจะได้เคล็ดลับในการทำน้ำสลัดแสนอร่อยจากเชฟผู้ชำนาญ และได้ชิมอาหารซึ่งเป็นผลผลิตจากโครงการฟาร์มตัวอย่างฯ
กิจกรรม Workshop ที่ ๒ “ ทำน้ำหม่อน ”
ผลหม่อนซึ่งเป็นผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง สามารถรับประทานได้ทั้งผลสด และนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ ซึ่งการทำ Workshop ครั้งที่ ๒นี้จะเป็นการสาธิตการทำน้ำหม่อน ผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมจะได้เรียนรู้เทคนิคการทำน้ำหม่อนแบบโฮมเมด และสามารถนำความรู้ในครั้งนี้กลับไปทำที่บ้านได้
กิจกรรม Workshop ที่ ๓ “เรียนรู้ดอกไม้พระนาม”
เป็นกิจกรรมการเพ้นท์สีดอกไม้พระนามบนถุงผ้าดิบ ประกอบด้วยดอกไม้พระนาม ๔ดอก ได้แก่ กุหลาบควีนสิริกิติ์ แคทลียาควีนสิริกิติ์ ดอนญ่าควีนสิริกิติ์ และบัวควีนสิริกิติ์ โดยมีรูปต้นแบบและคำอธิบายเกี่ยวกับดอกไม้สั้นๆ และให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมลงสีตามต้นแบบ พร้อมรับถุงผ้ากลับบ้าน
กิจกรรม Workshop ที่ ๔ “ระบายสีตุ๊กตาชาววัง”
เป็นการสอนระบายสีตุ๊กตาชาววัง โดย อาจารย์พิรญาณ์ น่วมด้วง จากศูนย์ตุ๊กตาชาววังบ้านบางเสด็จ จ.อ่างทอง อาจารย์จะนำตุ๊กตาสำเร็จมาสอนการลงสีตุ๊กตาด้วยสีอะคริลิค พร้อมตุ๊กตากลับบ้านไปเป็นที่ระลึก
ขอเชิญเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ได้ที่งานนี้ด้วย
รีวิว นิทรรศการ 7 รอบพระนักษัตร สานรักแห่งความยั่งยืน