ในสภาวะที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว นายปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา โพสต์เฟซบุ๊ควันที่ 28 เม.ย. 59 วิเคราะห์สถานการณ์ ดังนี้
" สัญญาณอันตรายทั้งรู้ๆเราจะพังเพราะตามกฎหมายรัฐบาลไม่สามารถจะสั่งแบงค์ชาติได้ จากยอดการส่งออกที่ติดลบอย่างต่อเนื่อง และการชะลอตัวหรือการหยุดการลงทุนจากต่างประเทศ
ในปี 2015 การส่งออกของประเทศไทยติดลบไปถึง 5.8% และในเดือนมกราคม ปี2016 ยังคงติดลบ อีก8.9% ซึ่งส่งสัญญาณอันตราย เป็นอย่างมากของการส่งออกของไทย ถึงแม้ว่าการส่งออกเดือนกุมภาพันธ์จะกลับมาเป็นบวก แต่เป็นการส่งออกทองคำเป็นหลัก ซึ่งไม่ได้สะท้อนความเป็นจริง ในการส่งออกมากนัก เพราะในภาพรวมประเภทสินค้าเกษตรกรรมและสินค้าส่งออกหลักของไทยเช่น อุปกรณ์อิเลคทรอนิค เครื่องใช้ไฟฟ้า ยางพารา เคมีภัณฑ์ยังไม่ได้ดีขึ้น อาจทำให้ไตรมาส 1/2016 ตัวเลขส่งออกอาจจะติดลบต่อไปได้ หากค่าเงินบาทยังแข็งค่าหรืออยู่ในระดับอ่อนค่าน้อยกว่าประเทศคู่ค้า อีกทั้งประเทศคู่ค้านั้นยังดำเนินนโยบายลดค่าเงินตัวเองเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกและด้านการลงทุน อีกทั้งยังเป็นแรงจูงใจให้ประเทศอื่นๆมาลงทุนในประเทศที่ค่าเงินอ่อนค่า เช่น ในอาเซียน ได้แก่ประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย และกัมพูชา เป็นต้น จากปัจจัยดังกล่าว เมื่อมองย้อนกลับมามองที่ประเทศไทย แสดงให้เห็นว่า ขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศคู่ค้าของประเทศไทยลดลง เนื่องจากค่าเงินของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2012 ถึงเดือนมีนาคม 2016 อ่อนค่าลงเพียง 12% (31.55 THB ถึง 35.23 THB) เท่านั้น ส่งผลให้ กลุ่มสินค้าภาคเกษตรและการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม ส่งผลกระทบรุนแรง ซึ่งขออนุญาตกล่าวถึงผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนของภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม ดังนี้
ภาคเกษตร
ปี 2015 ภาคส่งออกในสินค้าเกษตรติดลบไปถึง 7.2% โดยสินค้าเกษตรของไทยที่ส่งออกเป็นอันดับต้นๆ ได้แก่ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพด สาเหตุหลักมาจาก ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าน้อยกว่าประเทศคู่แข่ง เป็นเหตุผลสำคัญ โดยประเทศอินเดียอ่อนค่าถึง 25% (53.06 INR อ่อนค่าถึง 66.34 INR) จากปี 2012 ถึงเดือนมีนาคมปี 2016 ทำให้ประเทศอินเดียกำหนดราคาสินค้าได้ตำ่กว่าประเทศไทย อีกทั้งสินค้าเกษตร ในแถบประเทศอเมริกาใต้ เช่นประเทศอาร์เจนติน่า ชิลี บราซิล และรวมไปถึงประเทศออสเตรเลีย ที่ถือว่าเป็นคู่แข่งขันกับประเทศไทยในการส่งออกสินค้าเกษตร มีค่าเงินที่อ่อนค่ามาก อาทิเช่น ประเทศอาร์เจนติน่า อ่อนค่าถึง 240% (4.30 ARS อ่อนค่าถึง 14.61 ARS) ชิลี 30% (519.55 CLP อ่อนค่าถึง 673.05 CLP) บราซิล 93% (1.86 BRL อ่อนค่าถึง 3.60 BRL) และออสเตรเลีย 25% (1.02 อ่อนค่าถึง 0.76 USD/AUD) โดยนับจากปี 2012 ถึงเดือนมีนาคม 2016 ด้วยประเทศเหล่านี้ที่ค่าเงินอ่อนค่าลงอย่างมาก ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรของโลกลดลงและคาดว่าจากนี้ทั้งราคาและปริมาณสินค้าของภาคเกษตรยังคงราคาต่ำไปอีก 3-5 ปีข้างหน้า ทั้งนี้กลุ่มสินค้าเกษตรของไทย อาทิเช่น ข้าว ยางพารา ที่ส่งออกในปี 2015 ติดลบถึง 12% เมื่อเทียบปี 2014 ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าค่าเงินบาทอ่อนค่าน้อยเกินไป เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งขัน ซึ่งค่าเงินบาทควรอ่อนค่าอยู่ที่ระดับ 45-46 บาท หรือ อ่อนค่าไปอีก 30% จากปัจจุบันที่อยู่ระดับ 35.23 จึงจะทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันไม่ว่าจะเป็นการกำหนดราคาของสินค้าจะไม่เสียเปรียบประเทศคู่แข่งขัน
หากมองในมุมของผู้ซื้อสินค้าเกษตรจากไทย ที่เป็นอันดับต้นๆ เช่น ประเทศมาเลเซียและกลุ่มประเทศในทวีปแอฟริกาเช่น แอฟริกาใต้ ไนจีเรีย ซึ่งประเทศเหล่านี้มีค่าเงินที่อ่อนค่ามากเมื่อเทียบกับประเทศไทย อาทิเช่น ประเทศมาเลเซียอ่อนค่าถึง 24%(3.16 MYR อ่อนค่าถึง 3.92 MYR) แอฟริกาใต้ 84%(8.09 ZAR อ่อนค่าถึง 14.86ZAR) ไนจีเรียอ่อนค่า 23%(152.30NGN อ่อนค่าถึง 199.14NGN) โดยนับจากปี 2012 ถึงเดือนมีนาคมปี 2016 ประกอบกับราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างมาก ทำให้รายได้หลักของกลุ่มประเทศเหล่านี้ลดลง ส่งผลให้ยอดสั่งซื้อน้อยลงเช่นกัน
ภาคอุตสาหกรรม
ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมในไทยมากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆที่มาลงทุน อยู่ที่ประมาณ 65-70% โดยในปี 2015 ตัวเลขการลงทุนของญี่ปุ่นในไทยลดลงเหลือเพียง 30% เท่านั้น สาเหตุหลักมาจากค่าเงินบาทไทยที่อ่อนค่าเพียง 12% แต่ที่ญี่ปุ่นกลับอ่อนค่าถึง 46% (76.91JPY อ่อนค่าถึง 112.26JPY) จากปี 2012 เงินเยนแลกเป็นเงินบาทได้ประมาณ 100JPY:40THB แต่ในปี 2015 เงินเยนแลกเป็นเงินบาทได้เพียง 100JPY:30THB เท่านั้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตในไทยสูงขึ้นมาก ซึ่งการลงทุนของประเทศญี่ปุ่นในไทยนั้น ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากตัวเลข ของกรมส่งเสริมการลงทุน (BOI) โดยมีการลงทุนในปี 2012 อยู่ที่ 317,281 ล้านบาท, ปี 2013 อยู่ที่ 309,951 ล้านบาท, ปี 2014 อยู่ที่ 150,768 ล้านบาท และปี 2015 อยู่ที่ 142,255 ล้านบาท ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศทั้งหมด และเมื่อเทียบสัดส่วนการลงทุนของประเทศญี่ปุ่นเอง มีการลงทุนปี 2015 เทียบปี 2012 สัดส่วนการลงทุนลดลงถึง 55.16% ส่วนหนึ่งมาจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าเทียบกับเงินเยนมากถึง 34%(เยนอ่อนค่าถึง 46% บาทอ่อนค่า 12%) ซึ่งไทยยังอ่อนค่าน้อยกว่าประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ญี่ปุ่นไปลงทุนอีกด้วยเช่นอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา เป็นต้น
ทั้งนี้ ประเทศญี่ปุ่นมีฐานการผลิตในอาเซียนอยู่แล้ว และมีทางเลือกในการลงทุนที่นอกเหนือจากไทยหลายประเทศเช่น ประเทศเวียดนาม เป็นอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ โดยแนวโน้มการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนามยังมีโอกาสขยายตัวได้สูงโดยเฉลี่ยร้อยละ 14.7 ต่อปีในช่วงปี 2558 ถึง 2562 ซึ่งมีการส่งออกเกิน 50,000 ล้านดอลล่าร์ต่อปี ซึ่งแซงหน้าไทยไปแล้วตั้งแต่ปี 2556 ประกอบกับเวียดนามมีต้นทุนค่าแรงงานที่ต่ำกว่าประเทศไทยถึง 3 เท่า โดยค่าแรงขั้นตำ่ของไทยเท่ากับ 300 บาทต่อวัน แต่เวียดนามประมาณ 95 บาทต่อวันเท่านั้น ซึ่งส่งผลให้ GDP ของประเทศเวียดนามเติบโตอย่างต่อเนื่องจาก 5.06% ในปี 2014 เติบโตเป็น 7.01% ในปี 2015 และในส่วนของประเทศอินโดนีเซีย คือ อุตสาหกรรมรถยนต์ที่มียอดการผลิตและการส่งออกปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ระดับ 6.50-7.00% ในอนาคตอีกไม่นานประเทศอินโดนีเซียคงเบียดแซงไทยทั้งการผลิตและการส่งออกในอุตสาหกรรมรถยนต์นี้ก็เป็นได้ ด้วยค่าแรงงานที่ถูก ทรัพยากรธรรมชาติและค่าเงินที่อ่อนค่าลงถึง 46%(9,069IDR อ่อนค่าถึง 13,284IDR)เป็นปัจจัยหลักที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศ
ดังนั้น ประเทศไทยควรจะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าไปเทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับประเทศญี่ปุ่นที่เงินเยนอ่อนค่าลง หรือจากระดับ 35.23บาท ไปที่ระดับ 45-46บาท จึงจะสามารถดึงนักลงทุนกลับมาได้ รัฐบาลควรส่งสัญญาณให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ผลักดันการใช้มาตราการเพื่อให้เงินบาทอ่อนค่าลงให้ใกล้เคียงหรือเทียบเท่ากับประเทศคู่ค้าและประเทศที่มาลงทุนในไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันไม่ว่าจะเป็นภาคเกษตรหรือภาคอุตสาหกรรมและสร้างแรงจูงใจให้ต่างประเทศเข้ามาลงทุนประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น
มาอีกแล้ว สอนจระเข้ว่ายน้ำ "