สนทนาพาที “โรงไฟฟ้ามา เทพาพัฒนาอย่างไร”

08 เมษายน 2559, 14:41น.


สนทนาพาที “โรงไฟฟ้ามา เทพาพัฒนาอย่างไร”



วันนี้ (8 เมษายน 2559) กลุ่มพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา จัดกิจกรรมสนทนาพาที “โรงไฟฟ้ามา เทพาพัฒนาอย่างไร” ณ ลานวัฒนธรรม ที่ทำการอำเภอเทพา ระหว่างเวลา 9.00-12.00 น. เพื่อร่วมระดมความคิด แลกเปลี่ยนความคิดเห็นของประชาชนในอำเภอเทพา เพื่อการพัฒนาพื้นที่ร่วมกันในอนาคต โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เข้าร่วมให้ข้อมูล ได้แก่

นายสนั่น ชายะพันธ์ นายกองค์การบริหาร ส่วนตำบลฉาง อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา บาบอยี มานิตย์ มุณี ผู้นำชุมชนอิสลาม อำเภอเทพา ดร.อุริช อัชชโคสิต นักวิชาการอิสระ และผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม อาจารย์สุรพันธ์ วงษ์โอภาสี ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ดร.พณวรรธน์ พงศ์ประยูร ประธานกลุ่มพัฒนาคุณภาพชีวิต นายสัมพันธ์ ละอองจิตร์ ผู้แทนภาคประชาชน นายเฉลิมพล ทิพย์มณี นายกเทศมนตรีตำบลเทพา นายมะฆอซาฟี มะดอหะ ผู้แทนคนรุ่นใหม่เทพา โดยมีแระชาชนเข้าร่วมประมาณ 500 คน





ดร.พณวรรธน์ พงศ์ประยูร ประธานกลุ่มพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน กล่าวว่า เมื่อเดือนที่แล้วได้จัดการชุมนุมที่เทพาบีช วันนั้นทุกคนในเทพามาร่วมตัวกันและแสดงความคิดเห็น และต่อเนื่องมาถึงงานนี้ ทุกวันนี้มีคนอยู่ 2-3 กลุ่ม คือ 1 กลุ่มที่เห็นต่าง 2 กลุ่มที่เห็นด้วย 3 กลุ่มที่อยู่เฉยๆ มีโรงไฟฟ้าก็ได้ ไม่มีก็ได้ แต่เวทีนี้จะเป็นเวทีที่ให้คนเห็นต่างได้มาแสดงความคิด ว่ามีโรงไฟฟ้าแล้วพัฒนาได้จริงควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม ชาติใดไม่มีพลังงาน ชาตินั้นไม่ประเทศมหาอำนาจ หน้าที่ของคนเทพาขณะนี้คือ อยากให้เทพาเป็นเมืองพัก ไม่ใช่เมืองผ่าน ซึ่งคนเทพาต้องได้ทำงานที่นี้





นายดลเลาะห์ เหล็มแหละ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3  ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน อำเภอเทพา กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของเทพา ในมุมมองของตัวแทนของชุมชนเทพา เมื่อมีไฟฟ้าเข้ามาจะมีกิจกรรมต่างๆ เกิดขึ้ันในชุมชน เช่น งานเดิน วิ่งเพื่อสุขภาพ  งานแข่งเรือวัดพระสามองค์  อยากเชิญสื่อมวลชนให้มาประชาสัมพันธ์กิจกรรมเยอะๆ  แต่ก่อนเทพาไม่ค่อยมีกิจกรรม ปัจจุบันขนาดโรงไฟฟ้ายังไม่เข้ามากิจกรรมยังเกิดขึ้นมากมาย สร้างความคึกคักให้ชุมชน หรือกรณีเมืออาทิตย์ที่แล้วที่เกิดลมพายุ พัดหลังคาบ้านปลิว ไม่หน่วยงานใดเข้ามาช่วยเลย มีแต่การไฟฟ้าที่เข้ามาช่วยเหลือดูแล ต่อไปอยากให้ การไฟฟ้าสร้างเขื่อนกันลม เพื่อป้องกันลมพายุ ไม่ให้เกิดอันตรายกับลูกหลานเทพาต่อไป เมื่อไฟฟ้าเข้ามาทำ อยากให้ทำที่กันการเซาะชายฝั่งเป็นอันดับแรก



 



นายฆอซาฟี มะดอหะ ผู้แทนคนรุ่นใหม่เทพา กล่าวเพิ่มเติมว่า นี่คือโอกาสของพวกเราทุกคนในอำเภอเทพา  ในฐานะที่เป็นเยาวชนอยากให้ชุมชนมองว่า การมีโรงไฟฟ้าเป็นโอกาสที่ทำให้ชุมชนของเรามีการพัฒนา รวมทั้งการเกิดอาชีพ เกิดรายได้ อยากให้ลูกหลานคนเทพาได้ทำงานในโรงไฟฟ้า 80-90% เพราะเชื่อว่าโรงไฟฟ้าของเรา เราต้องดูแลเอง อยากให้ทุกคนเรียนรู้ที่จะอยู่กับการเปลี่ยนแปลงที่จะนำไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น



 



อาจารย์สุรพันธ์ วงษ์โอภาสี ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน มองว่า เทพาเป็นเมืองที่ลมสงบที่สุด เป็นเหตุหนึ่งที่ กฟผ. เลือกพื้นที่นี้ในการสร้างโรงไฟฟ้าซึ่งเป็นโอกาสที่ชุมชนจะได้มีโรงไฟฟ้าและมีการพัฒนา โรงไฟฟ้าเทพาจะเป็นโรงไฟฟ้าที่จะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว และชุมชนจะมีโอกาสได้เงินพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้า ประมาณ 352 ล้านบาทต่อปี เฉลียวันละ 1 ล้านบาท  โดยคำนวณจากหน่วยผลิตไฟฟ้า หน่วยละ 2 สตางค์ ยกตัวอย่างโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี ที่เปิดมาแล้วกว่า 10 ปี ว่ามีการบริหารจัดการควบคุมดูแลที่ดี เช่น การปล่อยน้ำของโรงไฟฟ้าที่มีการควบคุมอุณหภูมิไม่เกิน 1-2 องศา ซึ่งน้ำที่ปล่อยออกนี้จะทำให้เกิดแพลงตอน และเป็นอาหารของปลาในทะเลต่อไป การมีโรงไฟฟ้าทำให้เกิดการพัฒนาอาชีพ สร้างโรงเรียน สร้างวัด มีการให้ทุนการศึกษาให้กับนักเรียนทีมีศักยภาพ และมีสิ่งดีๆ เข้ามาในชุมชน



 



นายสนั่น ชายะพันธ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลฉาง อำเภอนาทวี จ.สงขลา บอกว่า เมืองเทพาเป็นเมืองโบราณ โรงไฟฟ้าที่มาเลเซียใช้ พลังงานถ่านหินเหมือนกับที่เทพา เขาร่วมมือร่วมใจกันที่สร้างโรงไฟฟ้า ยกตัวอย่างเวลาไฟฟ้าดับ 20 นาที อึดอัดไหม อันนี้ก็เป็นหน้าที่ของการไฟฟ้า เวลาใช้ไฟฟ้าเคยมีใครถามบ้างไหม ไฟฟ้านั้นผลิตจากอะไร เชื้อเพลิงอะไร คนที่เสียชีวิตจากโรงไฟฟ้ามีน้อยกว่า คนที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์ อิจฉาคนเทพาที่จะมีโรงไฟฟ้า จะได้มีการสร้างงานสร้างรายได้ จะได้มีคนมาท่องเที่ยวมาซื้อของ เช่น กะปิ



 



ด้านนายพล คงเสือ ผู้ช่วยผู้ว่าการ กฟผ. ซึ่งมานั่งรับฟังอยู่ข้างเวที กล่าวว่า ถ้าชุมชนอยากให้ไฟฟ้าพัฒนาอะไร กฟผ. ก็จะฟังความต้องการของชุมชน และพร้อมสนับสนุน สำหรับเทคโนโลยีใหม่มีการควบคุมดูแลที่ดี ยกตัวอย่างประเทศมาเลเซีย ที่มีพี่น้องประชาชนชาวมาเลค่อยตรวจสอบดูแล ด้านการจ้างงานในพื้นที่ กฟผ. ก็อยากจะจ้าง 100 % แต่ขอให้ตรงตามคุณสมบัติ เช่น วิศวกรรมไฟฟ้า ถ้าคุณสมบัติได้ก็สามารถสอบเข้าทำงานได้ หรืออาจจะจ้างงานผ่านบริษัทหรือการจ้างงานในท้องถิ่น ขอให้มั่นใจว่า กฟผ.จะเลือกคนในเทพาก่อน

เครดิตข่าว จส.100 :  

กดติดตามไลค์เพจ จส.100 ได้ที่นี่ :

กดติดตามทวิตเตอร์ จส.100 ได้ที่นี่ : 


สามารถดาวน์โหลด JS100 แอพพลิเคชั่น ได้ที่ : 

X