กรมขนส่งฯ เผยเก็บภาษีรถประจำปีเดือนก.พ.59 ได้กว่า 756 ล้านบาท

25 มีนาคม 2559, 18:57น.


      นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า กรมการขนส่งทางบกได้อำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนสามารถเลือกชำระภาษีรถประจำปีได้หลากหลายช่องทาง โดยในรอบเดือนกุมภาพันธ์ สามารถจัดเก็บได้กว่า 756,193,585.32 บาท แบ่งตามลำดับดังนี้

      1. ชำระภาษีรถยนต์ ณ สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 5 มีประชาชนมาใช้บริการ จำนวน  486,407 ราย จัดเก็บภาษีรถได้ทั้งสิ้น  561,220,466.21  บาท

      2. ชำระภาษีรถผ่านช่องทาง “เลื่อนล้อ ต่อภาษี” (Drive Thru for Tax) ซึ่งเป็นการชำระภาษีโดยไม่ต้องลงจากรถ จำนวน  66,715 ราย จัดเก็บภาษีรถได้ทั้งสิ้น  120,491,352.20  บาท

      3. ชำระภาษีรถผ่านโครงการ“ช้อปให้พอ แล้วต่อภาษี” ซึ่งเป็นการรับชำระภาษีรถที่ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีในวันเสาร์ – อาทิตย์ ทั้ง 14 สาขา ได้แก่ สาขาลาดพร้าว  รามอินทรา  รัชดาภิเษก  บางปะกอก  เพชรเกษม  อ่อนนุช  สุขาภิบาล 3  บางบอน  สุวินทวงศ์  แจ้งวัฒนะ  บางใหญ่  สำโรง ศรีนครินทร์ และบางนา ,ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลรามอินทรา  และเซ็นทรัลลาดพร้าว ,และศูนย์การค้าพาราไดซ์พาร์ค มีประชาชนมาใช้บริการจำนวน  33,039  ราย จัดเก็บภาษีรถได้ทั้งสิ้น  49,948,207.31 บาท 

      4. ชำระภาษีรถผ่านศูนย์บริการร่วมคมนาคม เชิงสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน ที่ให้บริการทุกวันจันทร์ – ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.30 – 15.00 น. มีผู้มาใช้บริการ จำนวน 9,084 ราย จัดเก็บภาษีได้ทั้งสิ้น  11,866,074.48  บาท 

      5. ชำระภาษีรถผ่านระบบอินเทอร์เน็ตที่เว็บไซต์ www.dlte-serv.in.th มีผู้ใช้บริการ จำนวน  5,531  ราย  จัดเก็บภาษีได้ทั้งสิ้น 12,667,485.12  บาท   

      นอกนั้นเป็นการใช้บริการชำระภาษีรถผ่านไปรษณีย์และผ่านโทรศัพท์มือถือบนเครือข่าย True move 

      ทั้งนี้ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ฝากถึงประชาชนสามารถเลือกใช้บริการชำระภาษีรถผ่านช่องทางต่างๆตามข้างต้นได้ โดยเจ้าของรถสามารถชำระภาษีรถล่วงหน้าก่อนครบกำหนดไม่เกิน  90  วัน และต้องไม่ค้างชำระภาษีรถเกินกว่า 1 ปี  สำหรับรถยนต์ที่มีอายุการใช้งานครบ 7 ปีขึ้นไป หรือรถจักรยานยนต์ที่มีอายุการใช้งานครบ 5 ปีขึ้นไป ต้องมีใบรับรองการตรวจสภาพรถจากสถานตรวจสภาพรถเอกชน(ตรอ.) มาแสดงด้วย  ส่วนกรณีรถใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงต้องมีหนังสือรับรองการตรวจและทดสอบตามระยะเวลาที่กำหนด  ตลอดจนต้องมีกรมธรรม์ประกันภัยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัย จากรถ โดยคงเหลือระยะเวลาคุ้มครองไม่น้อยกว่า 3 เดือน



 เครดิตข่าว จส.100 :  

กดติดตามทวิตเตอร์ จส.100 ได้ที่นี่ : 

กดติดตามไลค์เพจ จส.100 ได้ที่นี่ :

สามารถดาวน์โหลด JS100 แอพพลิเคชั่น ได้ที่ :
 
X