รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เพิ่มความเข้มงวดด้านมาตรการรักษาความปลอดภัยภายหลังเกิดเหตุการณ์ระเบิดรถไฟฟ้าใต้ดิน ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม
พลเอกดรัณ ยุทธวงษ์สุข กรรมการและรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เปิดเผยว่าหลังจากเกิดเหตุการณ์ลอบวางระเบิดรถไฟฟ้าใต้ดิน ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม จนทำให้มีผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก บริษัทฯ จึงได้กำหนดให้เพิ่มความเข้มงวดด้านมาตรการรักษาความปลอดภัยในการให้บริการแก่ผู้โดยสาร โดยมีมาตรการ 3 ส่วน คือ มาตรการด้านความปลอดภัย(Safety) มาตรการด้านความมั่นคง (Security) และมาตรการด้านการติดต่อประสานงานกรณีเหตุฉุกเฉินและการตอบสนองต่อเหตุการณ์
มาตรการด้านความปลอดภัย (Safety) จะมีการดำเนินการแก้ไขทันที หากพบว่าโทรทัศน์วงจรปิด(CCTV) ขัดข้องหรือชำรุด นายสถานีเฝ้าระวังพื้นที่โดยผ่าน CCTV และควบคุมผ่านวิทยุสื่อสาร โดยให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยตรวจตราดูอาคารสถานที่ทำการ สถานี ห้องสุขา ที่จอดรถ ที่ติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้า ถังขยะ และพื้นที่ที่เป็นจุดลับตา และมีการจัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยบริเวณพื้นที่ที่เป็นจุดเสี่ยง และให้เดินตรวจตามจุดเสี่ยงทุก 1 ชั่วโมง ในทุก ๆ สถานี นอกจากนี้ จะตรวจทุกทางเข้า-ออกสถานีรวมถึงหากพบวัตถุต้องสงสัยให้แจ้งเจ้าหน้าที่สถานีหรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทันที รวมถึงจัดชุดตรวจพื้นที่ภายในโรงซ่อมบำรุง พื้นที่แนวรั้ว สำหรับการกำหนดวัตถุต้องห้ามที่ไม่สามารถให้ผู้โดยสารนำเข้ามาในระบบมีดังนี้ อาวุธและของมีคมทุกชนิด ลูกโป่ง ดอกไม้ไฟ พลุ ประทัด และวัตถุไวไฟอื่นๆที่ก่อให้เกิดเปลวไฟ
มาตรการด้านความมั่นคง (Security) เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยสถานีพญาไทและสถานีราชปรารภ ประจำชั้นจำหน่ายตั๋วโดยสาร สุ่มตรวจด้วยเครื่องตรวจสอบโลหะมือ พร้อมไฟฉายส่อง ในอัตราส่วน 1:20 พื้นที่จอดรถใต้อาคารสถานีมักกะสัน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทำการตรวจรถที่เข้ามาจอดทุกคัน โดยทำการตรวจสอบฝากระโปรง ใต้ท้องรถ และจดบันทึกรถที่เข้า-ออก ทุกคัน และสังเกตรถที่มีลักษณะแปลกปลอมให้เฝ้าสังเกตเป็นพิเศษ ให้กำชับกวดขันเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และเจ้าหน้าที่ผู้ที่อยู่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ คอยสอดส่องและระมัดระวังป้องกันเหตุอันตราย การก่อวินาศกรรมตามอาคาร สถานที่ จุดสำคัญต่างๆ รวมทั้งระมัดระวังการเกิดอัคคีภัย และภัยธรรมชาติตลอดเวลา ให้มีการตรวจสอบกระเป๋า หรือกล่องหีบห่อ สัมภาระที่วางทิ้งไว้ผิดสังเกต โดยไม่ทราบเจ้าของ หากพบให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทันที อย่าได้หยิบฉวยหรือเปิดดูเป็นอันขาด
มาตรการด้านการติดต่อประสานงานกรณีเหตุฉุกเฉินและการตอบสนองต่อเหตุการณ์ เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ หรือเหตุการณ์ฉุกเฉินนั้น จะมีการประสานงานและติดต่อตามช่องทางที่กำหนดและซักซ้อมไว้ โดยศูนย์ควบคุมการเดินรถไฟฟ้า (OCC) จะทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงาน อำนวยการ และติดตามสถานการณ์ สนับสนุนและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
หากผู้ใดพบเห็นสิ่งผิดปกติ สิ่งของหรือบุคคลต้องสงสัยหรือไม่น่าไว้วางใจให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ประจำสถานีโดยทันที
Cr.http://www.srtet.co.th/index.php/th/news-activity/contents/293
เครดิตข่าว จส.100 :
กดติดตามทวิตเตอร์ จส.100 ได้ที่นี่ :
กดติดตามไลค์เพจ จส.100 ได้ที่นี่ :
สามารถดาวน์โหลด JS100 แอพพลิเคชั่น ได้ที่ :