พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ. ๒๕๕๙ บังคับใช้แล้ว

08 มีนาคม 2559, 11:31น.


      นายวีระ โรจน์พจน์รัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) เปิดเผยว่า พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ. ๒๕๕๙ มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายแล้ว โดยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๓๓ ตอนที่ ๑๙ ก เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๙  ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมได้ดำเนินการผลักดันให้ออกกฎหมายฉบับนี้  ด้วยเหตุผลที่ว่ามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเป็นสมบัติล้ำค่าที่ได้มีการสร้างสรรค์ สั่งสม ปลูกฝัง และสืบทอดในชุมชนจากคนรุ่นหนึ่งมายังคนอีกรุ่นหนึ่ง แต่ในปัจจุบันมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมดังกล่าว ได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของสังคมทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ บางครั้งมีการนำมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมไปใช้ในทางที่บิดเบือนหรือไม่เหมาะสมและอาจเป็นเหตุให้ต้องเสื่อมสูญไปอย่างน่าเสียดาย สมควรจัดให้มีการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมให้มีความสืบเนื่องและยั่งยืนสืบไป  จึงน่ายินดีที่พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีผลบังคบใช้แล้ว

      นายวีระ กล่าวต่อว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีทั้งสิ้น ๒๖ มาตรา โดยให้ความหมายว่า มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม คือ ความรู้การแสดงออก การประพฤติปฏิบัติ หรือทักษะทางวัฒนธรรมที่แสดงออกผ่านบุคคล เครื่องมือ หรือวัตถุ ซึ่งบุคคล กลุ่มบุคคล หรือชุมชน ยอมรับและรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน และมีการสืบทอดกันมาจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่งโดยอาจมีการปรับเปลี่ยนเพื่อตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมของตน  ซึ่งครอบคลุม ๖ เรื่อง ได้แก่  ๑.วรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา เช่น นิทาน ตำนาน สุภาษิต ปริศนาคำทาย  ๒.ศิลปะการแสดง เช่น ดนตรี นาฏศิลป์ ละคร  ๓.แนวทางปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณี และเทศกาล เช่น มารยาท  ๔.ความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล เช่น อาหารและโภชนาการ การแพทย์แผนไทย โหราศาสตร์   ๕.งานช่างฝีมือดั้งเดิม เช่น จักสาน งานผ้า เครื่องปั้นดินเผา งานไม้ โลหะ เครื่องหนัง  ๖.การเล่นพื้นบ้าน กีฬาพื้นบ้านและศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว และอื่นๆตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

      โดยให้มีคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมทั้งในส่วนกลาง กรุงเทพมหานคร และประจำจังหวัด ดำเนินการร่วมกับชุมชนและทุกภาคส่วนในการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม และให้มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ถ่ายทอดความรู้ฝึกอบรม ศึกษาวิจัย และส่งเสริมให้มีการสืบทอด รวมถึงให้มีการขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของประเทศ  รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนให้มีเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ  โดยกำหนดให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการรับผิดชอบในงานธุรการและงานวิชาการของคณะกรรมการดังกล่าว

      สำหรับแนวทางการป้องกันและรักษามรดกภูมิปัญญา ระบุไว้ใน มาตรา ๒๔ เมื่อปรากฏว่ามีการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ขึ้นบัญชีไว้ ให้คณะกรรมการเสนอต่อรัฐมนตรีเพื่อมีคำสั่งให้ระงับการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายดังกล่าวได้ เว้นแต่กรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนหรือเป็นกรณีที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกคำสั่งระงับการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายนั้นได้

       ส่วนการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก (Convention for the Safeguarding of the Intangible Culture Heritage) ประเทศไทยจะได้ประโยชน์ในหลายด้าน เช่น สามารถเสนอรายการมรดกวัฒนธรรมของไทยเข้าสู่กระบวนการพิจารณารายการที่เป็นตัวแทนของมนุษยชาติได้  ซึ่งหากได้รับการประกาศฯ  จะทำให้รายการของประเทศไทยเป็นที่รู้จัก เป็นการแสดงตัวตนของไทยในเวทีระดับนานาชาติ ทั้งยังมีส่วนสนับสนุนการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี



เครดิตข่าว จส.100 :  

กดติดตามทวิตเตอร์ จส.100 ได้ที่นี่ : 

กดติดตามไลค์เพจ จส.100 ได้ที่นี่ :

สามารถดาวน์โหลด JS100 แอพพลิเคชั่น ได้ที่ :
 

X