“สวนผักคนจนเมืองชุมชนภูมิใจ” เปลี่ยนพื้นที่รกร้างกว่า 1 ไร่ สร้างพื้นที่สีเขียวกินได้ สสส.-มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน-มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย-ภาคี สานพลัง พัฒนา “ศูนย์เรียนรู้การทำเกษตรในเมือง”

วันนี้, 12:17น.


      “สวนผักคนจนเมืองชุมชนภูมิใจ” เปลี่ยนพื้นที่รกร้างกว่า 1 ไร่ สร้างพื้นที่สีเขียวกินได้ สสส.-มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน-มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย-ภาคี สานพลัง พัฒนา “ศูนย์เรียนรู้การทำเกษตรในเมือง” ส่งทีมพี่เลี้ยงออกแบบพื้นที่-เสริมความรู้-สอนทักษะทำเกษตรอินทรีย์ ช่วยกลุ่มเปราะบาง ตกงาน-มีรายได้น้อย ให้มีพืชผลกินระยาว ตั้งเป้าขยายผลสร้างความมั่นคงทางอาหาร ในเครือข่ายสลัม 4 ภาค ภายในปี 69



      เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 16 ก.ค. 2568 ที่สวนผักชุมชนภูมิใจ ถ.ประชาร่วมใจ ซอย 43 เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ ทพญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์ ประธานกรรมการกำกับทิศทางแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การขับเคลื่อนงานอาหาร เป็น 1 ใน 7 ประเด็นการทำงานตามทิศทางและเป้าหมายของแผนยุทธศาสตร์ระยะ 10 ปี สสส. ซึ่งมุ่งให้ประชาชนได้บริโภคอาหารเพื่อให้มีสุขภาพดี และคำนึงถึงความมั่นคงทางอาหาร เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะกลุ่มคนจนในพื้นที่เขตเมือง สสส. จึงร่วมกับ มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย และเครือข่ายสลัม 4 ภาค จัดตั้งศูนย์เรียนรู้การทำเกษตรในเมือง โดยการพัฒนาปรับปรุงพื้นที่ชุมชนภูมิใจ รวมกลุ่มชาวบ้านเกือบ 100 ครัวเรือน จาก 5 ชุมชนริมคลอง ได้แก่ 1) ชุมชนคลองเป้ง เขตวัฒนา 2) ชุมชนลาดบัวขาว เขตสะพานสูง 3) ชุมชนอยู่เย็น เขตลาดพร้าว 4) ชุมชนแบนตาโพ เขตคลองสามวา และ 5) ชุมชนใต้ทางด่วนดินแดง เขตดินแดง ปรับพื้นที่รกร้างขนาด 1 ไร่ ให้เป็นต้นแบบของการสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยของอาหาร มุ่งเป้าเสริมความรู้และพัฒนาศักยภาพในการผลิตอาหารด้วยตนเองเท่าที่ทำได้ เพื่อลดรายจ่าย และนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตและสุขภาวะที่ดี รวมทั้งสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่จากการทำเกษตรในเมืองไปสู่การบริโภคอาหารปลอดภัย



      “แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. สนับสนุนการพัฒนาศูนย์เรียนรู้การทำเกษตรในเมือง มียุทธศาสตร์การทำงาน 4 ประเด็น ได้แก่ 1) ส่งเสริมความรอบรู้ด้านอาหารที่มีคุณภาพและเหมาะสม 2) ร่วมมือกับภาคนโยบาย (กทม.) สนับสนุนให้ใช้พื้นที่ว่างมาผลิตอาหาร 3) บูรณาการชุมชนมีส่วนร่วมขับเคลื่อนระบบอาหารที่ยั่งยืน และ 4) ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจอาหารชุมชน สร้างความเข้มแข็งต่อกระบวนการผลิตอาหารในระดับครัวเรือน ชุมชน ทั้งในภาวะวิกฤตและภาวะปกติ โดยในปีนี้เตรียมขยายผลความร่วมมือกับเครือข่ายสลัม 4 ภาคที่เป็นเครือข่ายของคนจนเมืองทั่วประเทศ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและนำไปสู่การบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะ สอดรับเป้าหมายระดับโลก โดยเฉพาะวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน พ.ศ. 2573 ที่ครอบคลุมและเชื่อมโยงไปทั้งระบบอาหารตลอดห่วงโซ่” ทพญ.จันทนา กล่าว



      น.ส.ทัศนีย์ วีระกันต์ ผู้อำนวยการมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ชุมชนภูมิใจ คือ ชุมชนสร้างใหม่จากการถูกไล่รื้อถอน ทำให้คนชุมชนมีหนี้สิน เนื่องจากที่อยู่ใหม่ไกลจากแหล่งงานเดิม บางคนต้องเปลี่ยนงาน ตกงานในช่วงเวลาการย้ายที่อยู่ รวมถึงไม่ได้เป็นชุมชนที่ได้รับการรับรองตามโครงสร้างพื้นฐานที่จะได้รับสวัสดิการ ปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาปากท้องจึงเป็นปัญหาใหญ่ของชุมชนภูมิใจ โครงการฯ จึงร่วมกับชุมชนและภาคีที่เกี่ยวข้อง เปลี่ยนพื้นที่รกร้างว่างเปล่าให้เป็นพื้นที่สีเขียวกินได้ ผ่าน 4 องค์ประกอบ 1) วิทยากรและหลักสูตร โดยร่วมกับ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชและมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร พัฒนาหลักสูตรเกษตรอินทรีย์ในเมือง ตั้งแต่การวางแผนการปลูก ดูแลรักษา จนถึงเก็บเกี่ยว 2) ศูนย์ฝึกอบรม/ศูนย์เรียนรู้ เป็นพื้นที่กลางที่ใช้เป็นกลไกขับเคลื่อนงานสวนผักคนเมือง มีบทบาทด้านการพัฒนาและถ่ายทอดความรู้ เทคนิค นวัตกรรมการทำเกษตรในเมือง การพึ่งตนเอง สอดคล้องกับบริบทของเมือง 3) ระบบพี่เลี้ยง ติดตามงาน รวมทั้งเป็นผู้ทำงานร่วมกับศูนย์ฯ และสมาชิก 4) พัฒนาระบบสื่อสาร แอปพลิเคชันไลน์ สวนผักคนจนเมือง เพื่อเป็นช่องทางติดตามผลการดำเนินงาน ให้คำปรึกษา แก้ไขปัญหาเทคนิคการเกษตร รวมถึงเชื่อมร้อยสมาชิกกลุ่ม



      “กระบวนการทั้ง 4 องค์ประกอบของศูนย์ ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. จะใช้ในการบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนในการขยายการทำเกษตรอินทรีย์ในเมือง โดยเฉพาะกับกลุ่มเปราะบางเพื่อความมั่นคงและความปลอดภัยของอาหาร รวมไปถึงการสร้างความรอบรู้เพื่อการบริโภคอาหารที่สมดุลด้วย สำหรับผู้ที่สนใจอยากจะร่วมพัฒนาพื้นที่สีเขียวกินได้ สามารถติดตามรายละเอียดที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ สวนผักคนเมือง” น.ส.ทัศนีย์ กล่าว





 
X