“สุรพงษ์” ห่วงใยสถานการณ์ฤดูฝน สั่งการ รฟม. เข้มมาตรการความปลอดภัยสูงสุด ในพื้นที่ก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าทุกสาย

23 พฤษภาคม 2568, 18:01น.


   นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ในช่วงนี้หลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมขังในบางพื้นที่ รวมถึงอาจทำให้เกิดดินทรุดตัว จึงได้สั่งการให้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กำกับดูแลการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้างทั้ง 2 โครงการ ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ให้มีความปลอดภัยสูงสุด โดยให้เตรียมมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากฝนตกหนัก เพื่ออำนวยความสะดวกและปลอดภัยในการเดินทางให้แก่ประชาชนผู้ใช้เส้นทาง ตลอดจนผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ก่อสร้าง 


   นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รักษาการแทนผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า รฟม. ได้กำชับให้ที่ปรึกษาควบคุมการดำเนินงานของผู้รับจ้างก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 2 โครงการ ให้เป็นไปตามมาตรการด้านความปลอดภัย และมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเพิ่มการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์พายุฝน ดังนี้


   1. ตรวจสอบสภาพท่อ/ทางระบายน้ำ ลำราง และคูคลองต่างๆ ตลอดแนวก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องทุกเดือน หากพบว่ามีการอุดตัน มีดินทรายทับถม หรือมีวัสดุกีดขวาง ต้องดำเนินการขุดลอกโดยทันทีเพื่อป้องกันน้ำท่วมขัง โดยที่ผ่านมาโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ ได้ดำเนินการขุดลอกท่อระบายน้ำ บ่อพัก และลำรางตลอดแนวเส้นทางโครงการฯ บริเวณแนวก่อสร้างถนนสามเสน ถนนพระสุเมรุ ถนนมหาไชย ถนนประชาธิปก ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน และตลอดแนวถนนสุขสวัสดิ์ จนถึง บริเวณครุใน และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ได้ดำเนินการขุดลอกท่อระบายน้ำ บริเวณแนวก่อสร้างถนนราชดำเนินกลาง ถนนหลานหลวง ถนนเพชรบุรี และถนนราชปรารภ เพื่อป้องกันเศษวัสดุอุดตันในท่อระบายน้ำตามแนวสายทาง เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำได้ดีมากยิ่งขึ้น





  2. จัดเก็บวัสดุอุปกรณ์และเครื่องจักรต่างๆ ให้เรียบร้อย และจัดหาผ้าใบปกคลุมไว้ให้มิดชิด เพื่อป้องกันไม่ให้เศษวัสดุก่อสร้างตกหล่นไหลลงสู่ทางระบายน้ำและกีดขวางการระบายน้ำ



   3. ให้โครงการรถไฟฟ้าทุกสายของ รฟม. มีการนำรถดูดฝุ่นมาใช้ปฏิบัติงานเพื่อลดผลกระทบด้านฝุ่นละออง อย่างสม่ำเสมอ รวมถึงช่วยป้องกันไม่ให้เศษดินหรือฝุ่นละอองตกหล่นไหลลงท่อและกีดขวางการระบายน้ำ



   4. จัดเตรียมอุปกรณ์เครื่องสูบน้ำให้พร้อมสำหรับใช้งาน เพื่อสนับสนุนการทำงานร่วมกับส่วนงานที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่โดยตรง เช่น สำนักงานเขตต่างๆ สถานีตำรวจในพื้นที่ เป็นต้น เพื่อช่วยระบายน้ำที่ท่วมขัง



  5. จัดหน่วยช่วยเหลือฉุกเฉินและบรรเทาทุกข์เพื่อช่วยเหลือเร่งด่วนเมื่อเกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า และช่วยเหลือรถยนต์ที่จอดเสีย 






     นอกจากนี้ รฟม. ได้เน้นย้ำให้ที่ปรึกษาและผู้รับจ้างของทั้ง 2 โครงการ ตระหนักถึงความสำคัญของการควบคุมมาตรฐานในงานก่อสร้างด้วยความปลอดภัยสูงสุด โดยปฏิบัติตามมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง อาทิ การตรวจสอบการทำงานบนที่สูง การป้องกันการพังทลายของดินหรือสิ่งปลูกสร้างในการขุดดินหรือถมดิน การติดตั้งแผ่นรองขาเครน ราวกันตก บันไดขึ้นลงที่มีราวจับมั่นคง การยึดโครงสร้างนั่งร้าน และอุปกรณ์ต่างๆ ให้มีความมั่นคง แข็งแรง ปลอดภัย รวมถึงกำกับการทำงานในทุกขั้นตอนของผู้ปฏิบัติงานทุกคน ให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย สำหรับพื้นที่ที่มีการปิดเบี่ยงจราจร ได้เน้นย้ำให้ผู้รับจ้างคำนึงถึงทัศนวิสัยของผู้ใช้รถใช้ถนน โดยเพิ่มสัญญาณไฟแสงสว่างให้เพียงพอต่อการสังเกตเห็นได้ในระยะที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดความปลอดภัยทั้งต่อผู้ปฏิบัติงานและผู้ใช้รถใช้ถนน ตลอดจนให้ผู้รับจ้างบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภายในท้องที่ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านจราจรและความปลอดภัยให้แก่ประชาชน ติดตามข้อมูลข่าวสาร รฟม. เพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ รฟม. www.mrta.co.th และเฟซบุ๊กแฟนเพจ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ Call Center รฟม. โทรศัพท์ 0 2716 4044
X