56 ปี กฟผ. สานต่อภารกิจแห่งความยั่งยืนด้านพลังงานและสังคม มุ่งมั่นพัฒนาพลังงานไฟฟ้าที่เหมาะสมกับโลก มั่นคงกับระบบไฟฟ้าของคนไทย

วันนี้, 13:24น.


          กฟผ. เดินหน้าเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าสีเขียว ชูโรงไฟฟ้า SMR ตอบโจทย์ความมั่นคงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการพัฒนานวัตกรรมพลังงาน สร้างความมั่นคงเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า รองรับการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดที่เหมาะสมกับโลก มั่นคงต่อระบบไฟฟ้าไทย เพื่ออนาคตและความสุขของคนไทยอย่างยั่งยืน




 


          นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ในโอกาสวันที่ 1 พฤษภาคม 2568 เป็นวันคล้ายวันสถาปนา กฟผ. ครบรอบ 56 ปี กฟผ. ขอขอบคุณคนไทยทุกคนที่ไว้วางใจให้ กฟผ. ดูแลความมั่นคงของระบบไฟฟ้าไทย นับตั้งแต่กำลังผลิตเริ่มต้นเพียง 908 เมกะวัตต์ เมื่อครั้งก่อตั้งในวันที่ 1 พฤษภาคม 2512 จวบจนปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 52,017 เมกะวัตต์ โดยเป็นโรงไฟฟ้าของ กฟผ. 16,261 เมกะวัตต์ คิดเป็นร้อยละ 31.26 มีสายส่งไฟฟ้าทั่วประเทศความยาวรวมถึง 40,041 วงจร-กิโลเมตร จนกลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย










 


          ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด กฟผ. ตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาความมั่นคงทางพลังงาน โดยหาจุดสมดุลระหว่างการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลและพลังงานหมุนเวียนที่เหมาะสมกับประเทศไทย เนื่องจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมเป็นแหล่งพลังงานที่มีความผันผวน ซึ่งมีความสามารถในการผลิตไฟฟ้า (Capacity Factor) อยู่ที่ประมาณ 17-20% เท่านั้น ประกอบกับสถิติการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ กฟผ. จึงต้องพัฒนาระบบผลิตและส่งไฟฟ้าให้มีความทันสมัยและยืดหยุ่น (Grid Modernization) รองรับการบริหารจัดการความผันผวนของพลังงานหมุนเวียนที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ

     - ปรับปรุงโรงไฟฟ้าให้มีความยืดหยุ่น (Flexible Power Plant) สามารถเร่งหรือลดการผลิตไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็วเพื่อให้กำลังผลิตไฟฟ้าเพียงพอตามความต้องการในทุกช่วงเวลา

     - ปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าให้มีความยืดหยุ่น (Grid Flexible) โดยติดตั้งแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน ควบคู่กับการบริหารจัดการร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ เพื่อลดความผันผวนและรักษาเสถียรภาพของระบบไฟฟ้า

     - เพิ่มศักยภาพการวางแผนผลิตไฟฟ้าด้วยศูนยพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Forecast Center) เพื่อนำไปใช้สำหรับวางแผนผลิตไฟฟ้าร่วมกับโรงไฟฟ้าหลัก


BESS สฟ.ชัยบาดาล






 


          ทำหน้าที่เสมือนศูนย์ควบคุมพลังงานหมุนเวียนประเภทต่าง ๆ และระบบกักเก็บพลังงานเข้าไว้ด้วยกัน โดยนำความได้เปรียบของพลังงานหมุนเวียนแต่ละประเภทมาเติมเต็มเสริมความมั่นคงซึ่งกันและกัน ร่วมกับการบริหารจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (Demand Side Management : DSM)

          ขณะเดียวกัน กฟผ. ยังมุ่งมั่นสานต่อภารกิจแห่งความยั่งยืนด้านผลิตไฟฟ้า เร่งเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าสีเขียวผ่านโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำเขื่อนของ กฟผ. ซึ่งอยู่ระหว่างเสนอขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) จำนวน 3 โครงการ ที่เขื่อนภูมิพล จ.ตาก เขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี รวมถึงโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งคาดว่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2569 ควบคู่กับการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (Small Modular Reactor : SMR) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าสะอาดแห่งอนาคตที่ตอบโจทย์ทั้งความมั่นคงและความยืดหยุ่นของระบบไฟฟ้า สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง และเดินเครื่องร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่แข่งขันได้และไม่มีความผันผวนของราคาเชื้อเพลิง อีกทั้งระบบความปลอดภัยยังลดความซับซ้อนของอุปกรณ์ ออกแบบให้อยู่ในรูปแบบโมดูลซึ่งผลิตและประกอบเบ็ดเสร็จจากโรงงานจึงสามารถควบคุมคุณภาพได้ดี รวมถึงสามารถหยุดทำงานได้อัตโนมัติเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน มีระบบระบายความร้อนที่ไม่ต้องพึ่งพาไฟฟ้าสำรอง นอกจากนี้ขนาดของโรงไฟฟ้าที่เล็กลงยังทำให้ระยะรัศมีการกำหนดพื้นที่ควบคุมการปล่อยสารกัมมันตรังสีลดลงด้วย โดยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่อาจมีระยะรัศมีถึง 16 กิโลเมตร ขณะที่โรงไฟฟ้า SMR มีระยะรัศมีน้อยกว่า 1 กิโลเมตร






 


          ภารกิจแห่งความยั่งยืนด้านระบบส่งไฟฟ้า กฟผ. ได้พัฒนาโครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าทั่วประเทศทั้งขนาด 500 กิโลโวลต์ และ 230 กิโลโวลต์ รวมถึงปรับปรุงให้เป็นระบบดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับการส่งไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่กระจายการผลิตไฟฟ้าตามพื้นที่ต่าง ๆ










          ภารกิจแห่งความยั่งยืนด้านการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม กฟผ. ยังมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยนำวัตถุพลอยได้จากกระบวนการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแม่เมาะมาพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์ ได้แก่ คอนกรีตจากเถ้าลอยลิกไนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อนำมาใช้ทดแทนคอนกรีตจากปูนซีเมนต์แบบเดิม พัฒนาผลิตภัณฑ์ฮิวมิคแบบน้ำจากลีโอนาร์ไดต์ (Leonardite) จากการทำเหมืองแม่เมาะ สามารถนำมาใช้ปรับปรุงดินที่เสื่อมสภาพให้เหมาะสมต่อการเพาะปลูก บำบัดน้ำเสีย หรือใช้กับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง






 


          นอกจากนั้นแล้ว กฟผ. ได้เร่งขยายการให้บริการสถานีชาร์จ EleX by EGAT และสถานีพันธมิตรในเครือข่าย EleXA แล้ว 413 แห่งทั่วประเทศ โดยในปี 2568 ตั้งเป้าขยายสถานีให้ได้รวม 520 แห่ง รวมถึงเตรียมพบกับแคมเปญฉลองความสำเร็จ 30 ปี ฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 พร้อมกับเปิดตัวฉลากประสิทธิภาพพลังงานของประเทศไทยโฉมใหม่ ซึ่ง กฟผ. ร่วมบูรณาการกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เพื่อส่งเสริมการจัดการใช้พลังงานของภาคประชาชนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและลดคาร์บอนอย่างเป็นรูปธรรมตามเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ
X