!-- AdAsia Headcode -->

ปรากฏการณ์โลกร้อนทะเลเดือด เมื่อทะเลไม่สามารถลดความร้อนให้กับโลกได้อีกต่อไป

08 มิถุนายน 2567, 10:00น.


          วันทะเลโลก ตรงกับวันที่ 8 มิถุนายน ของทุกปี มีขึ้นเพื่อให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของท้องทะเล และมหาสมุทร ให้ทุกคนใส่ใจและร่วมกันอนุรักษ์ท้องทะเล แต่ในปีนี้กลับเป็นการต้อนรับ วันทะเลโลก ด้วยปรากฏการณ์โลกร้อนทะเลเดือด เมื่อทะเลไม่สามารถลดความร้อนให้กับโลกได้อีกต่อไป

          ปรากฏการณ์โลกร้อนทะเลเดือด สันนิษฐานว่าอาจเป็นเพราะ 3 ปัจจัยหลัก ๆ นี้ ที่เป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้โลกของเราร้อนขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ได้แก่ เอลนีโญ ทำให้อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น ลานีญา ทำให้ฝนตกอย่างต่อเนื่อง จนเป็นผลให้น้ำจืดไหลลงสู่ทะเลมากจนเกินไป มลพิษที่เกิดจากการใช้ประโยชน์ทางทะเลของมนุษย์เช่น การปล่อยน้ำเสีย การใช้ครีมกันแดด การทิ้งขยะตามแนวชายหาด การทำกิจกรรมท่องเที่ยวทางทะเล เป็นต้น

4 ปรากฏการณ์ทะเลเดือด ผลกระทบที่มาจากสภาวะโลกร้อน มีอะไรบ้าง

     1. หญ้าทะเลลดลง : หญ้าทะเลที่ถือได้ว่าทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่สุด แต่พืชเหล่านี้กำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหญ้าชนิดนี้เป็นทั้งที่อยู่อาศัย และเป็นอาหาร ให้กับสิ่งมีชีวิตหลายประเภท เช่น ปลา สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังชนิดชนิดต่าง ๆ เต่าทะเล หรือพะยูน เป็นต้น กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง แจ้งว่าการสำรวจประชากรของพะยูนเป็นไปอย่างยากลำบากมากขึ้นในปีนี้ เนื่องจาก การอพยพของพะยูน ที่ออกไปหาแหล่งหญ้าทะเลนอกพื้นที่ มีการกระจายตัว ไม่รวมตัวกันเป็นฝูง เป็นกลุ่ม แสดงให้เห็นว่าหญ้าทะเลกำลังลดลง

     2. ปะการังฟอกขาวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น : จากการที่อุณหภูมิน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น ทำให้สาหร่ายที่มีสีสันต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ในปะการัง และเป็นพืชที่คอยให้สารอาหารแก่ปะการังลดน้อยลง เมื่อปะการังไม่สามารถหาอาหารได้ ก็จะค่อย ๆ สูญเสียสีสัน ตามด้วยการฟอกขาว และหากการฟอกขาวกินเวลานาน จะทำให้ปะการังตายในที่สุด


การลด หรือ งดกิจกรรมท่องเที่ยวทางทะเล งดการประมง หรือ ปิดพื้นที่บางจุด เป็นวิธีแก้ไขปัญหาเบื้องต้น เพื่อที่จะให้ปะการังได้มีโอกาสฟื้นตัว หลังอุณหภูมิกลับมาเป็นปกติ และการที่ฝนตกจะช่วยลดอุณหภูมิของน้ำทะเลได้

     (ยกตัวอย่างสถานที่ในไทยที่ได้ทำการปิดพื้นที่ ได้แก่ บริเวณเกาะยูง หมู่เกาะพีพี ที่ทำการปิดพื้นที่เมื่อปี พ.ศ.2559 จนถึง พ.ศ.2560 เป็นเวลา 1 ปี เพื่อทำการฟื้นฟูปะการังให้กลับมาสวยงามอีกครั้ง และล่าสุดเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2567 ที่ผ่านมา  มีการประกาศปิดพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว และงดการจัดกิจกรรมทางทะเลทั้งหมด 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกระบี่ และ จังหวัดตรัง โดยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ และหัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จังหวัดตรัง ประกาศปิดแหล่งท่องเที่ยว งดกิจกรรมดำน้ำตื้น และกิจกรรมทางน้ำบริเวณแนวปะการัง เพื่อลดผลกระทบจากการท่องเที่ยว และให้ปะการังพักฟื้นตัวจากการฟอกขาว)

     3. การเปลี่ยนแปลงของสีน้ำในมหาสมุทร : จากผลสำรวจพบว่า ครึ่งหนึ่งของพื้นที่มหาสมุทรทั่วโลก โดยเฉพาะในแถบใกล้เส้นศูนย์สูตร กำลังเปลี่ยนเป็นสีเขียวเข้มอย่างต่อเนื่อง จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ทำให้สิ่งมีชีวิตอย่างแพลงก์ตอนบลูมเติบโตขึ้นเกินขีดจำกัด ทำให้ผืนน้ำขาดออกซิเจน ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงไป สิ่งมีชีวิตไม่สามารถอยู่ได้ จนต้องอพยพหนี หรือตายในที่สุด

     4. ระดับน้ำทะเลลดต่ำลง และนานกว่าปกติ : การที่น้ำทะเลลดต่ำ และนานกว่าปกติ โดยปกติแล้วน้ำทะเลจะลดลงและเพิ่มขึ้นเป็นเรื่องของปรากฏการณ์น้ำขึ้น-น้ำลง ที่เป็นผลมาจากแรงดึงดูดของดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์กระทำต่อโลก แต่เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ทำให้น้ำทะเลลดต่ำ และนานกว่าปกติ จึงส่งผลให้ระยะเวลาที่หญ้าและปะการังที่อยู่บริเวณน้ำตื้นจะโผล่พ้นน้ำขึ้นมาช้ากว่าปกติ ยกตัวอย่างเช่น จากปกติหญ้า และปะการังจะโผล่พ้นน้ำขึ้นมาภายในเวลา 2 ชั่วโมง ก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 3-4 ชั่วโมง และถ้าหากหญ้าทะเล และปะการังไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมเช่นนี้ได้ ก็จะตายลงในที่สุด




 


#วันทะเลโลก #สิ่งแวดล้อม #โลกร้อน #JS100Content
X