จากข้อมูลของสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ ออกมาเผยถึง ฝุ่นจิ๋วหรือ PM 2.5 ฝุ่นละอองขนาดเล็ก เป็นภัยคุกคามร้ายแรงที่สุดต่อสุขภาพอนามัยของคนไทย ปัจจุบันนี้กลายเป็นวาระแห่งชาติและถือเป็นวิกฤตด้านสาธารณสุขในประเทศไทย
ฝุ่น PM 2.5 ส่งผลกระทบทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ มีความเสี่ยงสูงที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพทุกระบบ รวมถึงโรคหัวใจหลอดเลือด โรคทางสมองและระบบประสาท
ฝุ่นจิ๋วสามารถเดินทางเข้าไปสะสมในสมองได้ ผ่านอย่างน้อย 3 ช่องทาง คือ
1. ผ่านผนังโพรงจมูกส่วนติดต่อสมองรับกลิ่น โดยจะซึมผ่านขึ้นไปที่สมองส่วนหน้าด้านล่าง
2. ผ่านเข้าไปในปอด เข้าไปถึงหลอดลม แล้วซึมเข้าสู่กระแสเลือดที่ไหลเวียนไปยังสมอง
3. ผ่านเข้าสู่ทางเดินอาหาร โดยการกลืนลมที่มีฝุ่นจิ๋วปะปนในระหว่างการพูดคุยแล้วดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด หรือไปเปลี่ยนจุลชีพและสภาวะแวดล้อมในทางเดินอาหารก่อนจะไหลเวียนไปที่สมองต่อไป
ฝุ่นจิ๋วมีผลกระตุ้นให้เกิดกระบวนการอักเสบในระบบประสาทส่วนกลาง และหากผลกระทบนี้ลุกลามไปยังสมองที่ทำหน้าที่อื่น ๆ ก็จะส่งผลให้การทำงานของสมองในตำแหน่งนั้นผิดปกติไป เช่น ทำให้เกิดความจำเสื่อม
ผลกระทบจากฝุ่นในระยะสั้น ส่งผลให้เกิดอาการปวดหัว มึนงง ไมเกรนเป็นมากขึ้น โดยเฉพาะในเด็ก PM 2.5 จะทำให้การพัฒนาของสมอง และการเจริญเติบโตล่าช้าลง ส่วนในผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป หากมีโรคประจำตัวที่เกี่ยวกับสมอง จะมีโอกาสเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมมากขึ้น
หากพบว่ามีฝุ่นในปริมาณสูง ควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นควัน ลดการเผา ลดการใช้รถยนต์ที่มีการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ และสนองตอบนโยบายของรัฐในการจัดการควบคุมปัญหาฝุ่นควัน เพื่อสุขภาพของตัวเราเองและส่วนรวม
ที่มา : กรมการแพทย์