โรคทางจิตเภท มีอาการแบบไหน? ควรดูแลผู้ป่วยอย่างไร?

03 มกราคม 2567, 15:48น.


      อาการเริ่มต้นของโรคจิตเภท อาการอาจเกิดในแบบเฉียบพลันหรือแบบค่อยเป็นค่อยไป เริ่มมีอาการสับสน ไม่อยู่ในโลกความเป็นจริง ผู้ป่วยเริ่มเปลี่ยนจากบุคลิกภาพเดิม แยกตัว ไม่อยากสุงสิงกับใคร มีอาการระแวงคนอื่น ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ความรับผิดชอบต่อหน้าที่การงานลดลง สิ่งสำคัญที่ควรทำ คือ การปรึกษาแพทย์เพื่อรับการบำบัดรักษาโดยทันที



โรคจิตเภทแบ่งได้ 2 กลุ่มอาการ

1.กลุ่มอาการที่เพิ่มมากกว่าคนปกติทั่วไปอาการหลงเชื่อผิด

- ระแวงว่าคนอื่นจะมาทำร้าย กลัวตนเองโดนวางยาพิษ คิดว่าตัวเองเป็นบุคคลพิเศษ


- ความคิดผิดปกติ เริ่มไม่มีเหตุผล คุยกับคนอื่นไม่เข้าใจ พูดไม่เป็นเรื่องราว เปลี่ยนเรื่องพูดโดยไม่มีเหตุผล

- ประสาทหลอน คิดว่าจะมีบางสิ่งร้ายๆเกิดขึ้น ทั้งๆ ที่ความจริงไม่มีสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้น หูแว่ว เห็นภาพหลอน มองเห็นวิญญาณ

- มีพฤติกรรมผิดปกติ มีความคิดและความเชื่อที่ผิดปกติ หัวเราะหรือร้องไห้สลับกันเป็นพักๆ



2.กลุ่มอาการที่ขาดหรือบกพร่องไปจากคนปกติทั่วไป

- เก็บตัว ซึม ไม่อยากพบปะผู้คน แยกตัวเอง

- ไม่ดูแลตัวเอง ไม่สนใจเรื่องการแต่งกาย กลางคืนไม่นอน

- ไม่มีความคิดริเริ่ม เฉื่อยชาลง ไม่ทำงาน นั่งเฉยๆ ได้ทั้งวัน ผลการเรียนหรือการทำงานตกต่ำ

- พูดน้อย ใช้เวลานานกว่าจะตอบ พูดจาไม่รู้เรื่อง เนื้อความไม่ปะติดปะต่อกัน

- การแสดงออกทางอารมณ์ลดลงมาก ไร้อารมณ์ มักมีสีหน้าเฉยเมย ไม่มีอาการยินดียินร้าย



ในระยะอาการกำเริบ อาการส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มอาการที่เพิ่มมากกว่าคนปกติทั่วไป ส่วนกลุ่มอาการที่ขาดหรือบกพร่องไป จากคนปกติทั่วไป มักพบในระยะหลังโรค หากท่านหรือผู้ใกล้ชิดมีอาการดังกล่าว ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษา



การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคจิตเภท

- การรักษาด้วยยา เพื่อควบคุมอาการและลดอาการกำเริบของโรค

- การฟื้นฟูสภาพจิตใจ ให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วย ทำกิจกรรมคลายเครียด

- การทำจิตบำบัด นักจิตบำบัดหรือผู้เชี่ยวชาญจะทำการพูดคุยกับผู้ป่วย เจาะลึกถึงปัญหา และคลายปมในใจ เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจตัวเองและสามารแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้

- ครอบครัวบำบัด แพทย์จะให้ความรู้เกี่ยวกับโรคที่ผู้ป่วยเป็น และบอกสิ่งสำคัญในการดูแล ปรับตัว ในกับครอบครัวหรือญาติ เพื่อให้พวกเขาได้เข้าใจและพร้อมช่วยดูแลผู้ป่วย

- กลุ่มบำบัด จัดกิจกรรมกลุ่มระหว่างผู้ป่วยด้วยกัน เชื่อมความสัมพันธ์ให้ผู้ป่วยได้มีเพื่อน คลายความเหงา ความเครียดในใจ



      การดูแลผู้ป่วยเป็นสิ่งสำคัญ ผู้ดูแลและตัวผู้ป่วยเองต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ให้ดี การเข้าใจผู้ป่วยแม้จะเป็นเรื่องยาก หากเราเปิดใจยอมรับและไม่ตัดสิน ไม่มุ่งหวังหรือผลักดันผู้ป่วยมากเกินไป อาการของโรคจะคอยทุเลาลง และสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติได้



ที่มา : โรงพยาบาลมนารมย์



X