Masked Depression ซึมเศร้าซ่อนเร้น หัวใจซ่อนร้าว

22 พฤศจิกายน 2566, 11:19น.


      ซึมเศร้าซ่อนเร้น (Masked Depression) คือภาวะซึมเศร้ารูปแบบพิเศษชนิดหนึ่งที่ไม่แสดงออกทางจิตหรือทางอารมณ์ แต่แสดงออกทางร่างกาย หรือศัพท์ทางเทคนิคที่เรียกกันในปัจจุบันว่า  ภาวะโซมาติก Somatic Symptoms (SSD) เป็นความผิดปกติอย่างหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับทางร่างกายและจิตใจ ผู้ป่วยมักจะหมกหมุ่นและกังวลกับอาการทางกาย หากร่างกายเริ่มแสดงอาการ ไม่สบายบ่อยๆ ปวดหัว ปวดท้อง หายใจลำบาก ใจเต้นเร็ว จะเริ่มรู้สึกกังวลจนคิดว่าตัวเองต้องป่วยเป็นโรคอะไรสักอย่าง

      ซึมเศร้าซ่อนเร้น และ โรคซึมเศร้า แม้จะมีชื่อเรียกที่คล้ายกัน แต่อาการของโรคนั้นแตกต่างกัน ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder) จะมีอาการซึมเศร้าที่เด่นชัด อาการเหนื่อย ท้อแท้ หมดหวัง หมดกำลังใจ รู้สึกไร้ค่าไม่เป็นที่ต้องการ และมีความความคิดอยากตาย แต่สำหรับผู้ป่วยซึมเศร้าซ่อนเร้นนั้นมักไม่พบอาการซึมเศร้าที่ชัดเจน ยังสามารถใช้ชีวิตการทำงาน พูดคุยได้ตามปกติ

ซึมเศร้าซ่อนเร้นมีอาการอย่างไร?

      อาการของซึมเศร้าซ่อนเร้นจะไม่แสดงออกทางจิต ผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังสามารถรับผิดชอบหน้าที่การทำงานได้ดี ยิ้มแย้มทักทายคนใกล้ตัวได้ปกติเหมือนไม่มีปัญหาอะไร แต่มักมีความวิตกกังวล พูดและแสดงอาการทางกายให้เห็นบ่อยๆ เช่น ปวดหัว ปวดท้อง เจ็บหน้าอก ไม่สบายตัว หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น ระบบทางเดินอาหารมีปัญหา รู้สึกตัวเองป่วยผิดปกติ หลายคนจึงเลือกไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุแต่ก็ไม่พบความผิดปกติใดๆ

      ในบางคนอาจเกิดภาวะ OCD ภาวะวิตกกังวลอย่างหนึ่งหรือ โรคย้ำคิดย้ำทำ พ่วงเข้ามาด้วย บุคลิกของเขาจะเปลี่ยนไปกลายเป็น Workaholic หรือ คนบ้างานหนักๆ กดดันตัวเองอย่างหนักไม่ยอมพักผ่อน ทุ่มเทกับการทำงานเพื่อให้ได้ผลลัพทธ์ที่ดีเยี่ยม มีพฤติกรรม Perfectionist หมกมุ่นกับความสมบูรณ์แบบ เพราะในระดับจิตใต้สำนึกของผู้ที่เป็นภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้นจะมีความรู้สึกไม่มั่นคง ไม่มั่นใจในคุณค่าของตัวเอง จึงพยายามทุ่มเทเพื่อทำให้ทุกๆอย่างออกมาให้ดีที่สุดตามมาตรฐาน เพื่อให้ตัวเองเป็นที่ยอมรับของผู้อื่น

      เมื่องานไม่ได้ผลลัพทธ์ตามที่คาดหวัง ผู้ป่วยจะรู้สึกผิดหวังอย่างรุนแรง โกรธ หงุดหงิดง่าย ร้องไห้ ไม่สมเหตุสมผล จนเกิดความเครียดสะสม เกิดปัญหานอนไม่หลับ บางคนจึงเลือกใช้วิธีการดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ ทานยานอนหลับ รวมไปถึงการใช้สารเสพติด

ผลกระทบที่ตามมา

      ภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้นหากปล่อยสะสมไว้นาน ไม่ได้รับการรักษาหรือแก้ไขอย่างเหมาะสม จะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันหลายด้าน งานที่ได้รับมอบหมายอาจทำได้ไม่ดีอย่างที่ควร สุขภาพจิตใจที่อ่อนแอลงเรื่อยๆทำให้ความสามารถในการรับมือกับปัญหาต่างๆลดถอยลง ไม่สามารถหาทางออกกับปัญหาที่พบเจอได้ จนท้ายที่สุดอาจทำให้ความมั่นคงทางจิตใจและร่างกายทรุดตัวลง นำไปสู่อาการทางจิตใจ กลายเป็นโรคซึมเศร้า หากไม่สามารถยอมรับโรคที่เป็น ไม่สามารถปรับตัวได้ ในระยะยาวอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจนทำให้มีความคิดอยากฆ่าตัวตายเกิดขึ้น

การดูแลรักษา

      ผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้นมักไม่ยอมรับว่าตนเองมีภาวะเจ็บป่วยทางจิตใจ และมักปฏิเสธการเข้ารับการรักษาจากแพทย์ มองว่าตัวเองแค่เจ็บป่วยทางร่างกายเท่านั้น และเลือกที่จะเก็บกดปัญหาเอาไว้ไม่ยอมบอกใคร การรักษาจึงเป็นไปค่อนข้างยาก สิ่งสำคัญคือ ตัวผู้ป่วยเองจะต้องเข้าใจและยอมรับความเจ็บปวดนี้ให้ได้ ครอบครัวและคนใกล้ชิดของผู้ป่วยเองก็เช่นกัน หากผู้ป่วยได้รับความรัก ความเข้าใจ การเกลี้ยกล่อมโน้มน้าวผู้ป่วยก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถช่วยให้ผู้ป่วยยินยอมเข้ารับการรักษา

      การรักษาของผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่มีสูตรสำเร็จ การรักษามักไม่เป็นไปตามขั้นตอนเหมือนการรักษาโรคซึมเศร้าแบบปกติ จิตแพทย์ต้องอาศัยการพิจารณาจากอาการของผู้ป่วย เพราะการรักษาผู้ป่วยแต่ละรายอาจไม่เหมือนกัน การรักษาหลักจะใช้การให้ความรู้และทำจิตบำบัด เช่น ดนตรีบำบัด การวาดภาพ ทำงานศิลป์ ออกกังกายเล็กๆน้อยให้ร่างกายได้ขยับตัว ฝึกผ่อนคลาย ทำสมาธิ ในบางรายอาจพิจารณาเพื่อจ่ายยาสำหรับแก้อาการซึมเศร้า



ที่มา : โรงพยาบาลมานารมย์, Alljit

X