มูลนิธิการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติฯ มอบเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (AED) เพื่อป้องกันและช่วยชีวิตนักกีฬาหัวใจหยุดเต้นกระทันหัน

11 พฤศจิกายน 2566, 19:04น.


  ​นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ ประธานมูลนิธิการแพทย์ฉุกฉฺนแห่งชาติ (มพฉ.) ในพระราชูปถัมป์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มอบเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (AED) ให้กับสโมสรแบดมินตันอมาตยกุล สนามแบดมินตันเสนาเซ็นเตอร์ เพื่อช่วยชีวิตของประชาชนที่มาเล่นกีฬาประเภทต่างๆ อาทิ แบดมินตัน ลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยฉุกเฉินด้วยโรคหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน พร้อมชมการฝึกอบรม First Aid อย่างถูกวิธีด้วยการทำ CPR และ เครื่อง AED ที่สนับสนุนการจัดอบรมโดย มูลนิธิเพื่อความปลอดภัยทางถนน และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ด้วยคณะวิทยากรจากศูนย์เรียนรู้ชุมชนด้านการแพทย์ฉุกเฉิน มูลนิธิสว่างเบญจธรรม จังหวัดสมุทรสงคราม รับรองโดย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)










   
 ประธานมูลนิธิการแพทย์ฉุกเฉินฯ กล่าวถึง การมอบเครื่อง AED ในครั้งนี้ว่า ข่าวการเสียชีวิตของนักกีฬาหรือประชาชนที่มาออกกำลังกายด้วยกีฬาต่างๆ มีให้เห็นเป็นระยะๆ ล่าสุด มีนักกีฬาแบดมินตัน ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เกิดหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันช่วยเหลือกู้ชีวิตไม่ทัน จนเป็นเรื่องของการสูญเสียของคนในครอบครัว  สำหรับโรคหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันเป็นภัยเงียบที่คร่าชีวิตคนไทยทุกเพศ ทุกวัย และทุกที่ทุกเวลา ซึ่งอัตราของประชาชนที่เสียชีวิตมีจำนวนมาก จากสถิติในแต่ละปีนั้นประเทศไทยมีประชาชนเสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันกว่า 54,000 คนเท่ากับว่าในทุกๆ 1 ชั่วโมงมีคนเสียชีวิตจากโรคหัวใจมากถึง 6 คน และหากผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที และถูกวิธีตามหลักห่วงโซ่การรอดชีวิต คือการช่วยเหลือโดยการฟื้นคืนชีพเบื้องต้น (CPR) ประกอบกับการใช้เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (AED) ภายในระยะเวลา 4 นาทีหลังจากหัวใจหยุดเต้น ก็จะเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของประชาชนที่หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันนอกสถานพยาบาลได้





 



  การมอบเครื่อง AED ครั้งนี้ สืบเนื่องจากทางสโมสรแบดมินตันอมาตยกุล เล็งเห็นว่า สนามเสนาเซ็นเตอร์ มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก ส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงานและวัยเกษียณ ที่มีความเสี่ยงการเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นกระทันหันขณะออกกำลังกายเป็นอย่างสูง อนึ่ง นักกีฬาและประชาชน จำนวนมากที่มาใช้บริการสนามแบดมินตัน ขาดทักษะการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน และ ไม่เคยใช้เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (AED) จึงจัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตรการปฐมพยาบาลฉุกเฉินและการกู้ชีพขั้นพื้นฐาน (ระดับ 1) โดยคณะวิทยากรที่ได้รับการรับรองจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)







 
X