ระวัง เห็ดพิษ ระบาดช่วงหน้าฝน ลักษณะแบบนี้ห้ามกินเด็ดขาด

07 สิงหาคม 2566, 14:38น.


ช่วงฤดูฝนแบบนี้ เห็ดป่าหลายชนิดมักเกิดขึ้นตามธรรมชาติเป็นจำนวนมาก ผู้คนที่อาศัยอยู่ใกล้ป่ามักจะเก็บเห็ดป่ามาปรุงอาหาร แต่การเก็บเห็ดป่านั้นต้องอาศัยความชำนาญในการเก็บ เนื่องจากเห็ดที่เกิดขึ้นในป่ามีลักษณะที่คล้ายกันถ้าไม่ใช่คนที่ชำนาญมักจะแยกไม่ออกระหว่างเห็ดพิษกับเห็ดที่กิน ในเห็ดบางชนิดแม้จะนำมาปรุงให้สุกแล้วก็ไม่สามารถทำลายพิษได้

จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม 2566 พบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษจากเห็ดจำนวน 5 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่อาศัยอยู่ใกล้ชายป่ามักหาของป่ามาปรุงอาหาร อาการหลักๆที่พบจากการกินเห็ดพิษ คือ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย ถ่ายเหลว



เห็ดพิษจะมีลักษณะเฉพาะตัว หากเจอเห็ดหน้าตาแบบนี้ห้ามกินเด็ดขาด

- หมวกเห็ดเป็นปุ่มขรุขระ มีสีน้ำตาล สีสันฉูดฉาด

- มีวงแหวนใต้หมวก

- มีขนหรือหนามเล็ก ๆ บริเวณโคน

- เมื่อดอกแก่จะมีกลิ่นรุนแรง

- สีขาวทั้งดอก เนื้อในสีขาว เกิดบนมูลสัตว์ หรือใกล้กับมูลสัตว์

- ลักษณะคล้ายสมอง หรืออานม้า บางชนิดต้มแล้วกินได้ แต่บางชนิดมีพิษร้ายแรง



เห็ดพิษ 5 ชนิดที่ควรระวัง

- เห็ดหัวกรวดครีบเขียว เมื่อเริ่มแก่สปอร์จะเปลี่ยนสี ทำให้ครีบใต้ดอกมีสีเขียวปนเทา

- เห็ดระโงกหิน ระงาก เห็ดตายซาก มีหมวกสีขาวล้วน ทั้งแก่และอ่อน มีปุยเล็กน้อย ไม่เรียบมัน ก้านกลวงบ้าง ตันบ้าง

- เห็ดระโงกพิษสีน้ำตาล (ชนิดใหม่ของโลกเกิดในประเทศไทย) ลักษณะคล้ายกับเห็ดระโงกไส้เดือน หรือ เห็ดระโงกขี้ไก่เดือน

- กลุ่มเห็ดคล้ายกับเห็ดโคน และ กลุ่มเห็ดคล้ายเห็ดหาด ไม่สามารถจำแนกได้ด้วยตาเปล่าต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ



ข้อควรระวังและวิธีการป้องกันหากต้องกินอาหารที่ทำจากเห็ด

- หลีกเลี่ยงการกินเห็ดที่เป็นดอกอ่อน

- หลีกเลี่ยงการกินเห็ดป่าหรือเห็ดที่ไม่รู้จักคุ้นเคย

- ผู้ที่มีร่างกายอ่อนและมีโรคประจำตัว ควรหลีกเลี่ยงการกินเห็ด

- ตรวจดูเห็ด ล้างทำความสะอาด และผ่าเห็ดดูทุกดอกก่อนทำอาหาร หากมีสิ่งผิดปกติควรทิ้ง

- เลี่ยงการเก็บเห็ดที่โดนฝนตกโดยตรง

- เลือกซื้อเห็ดกับร้านค้าที่เชื่อถือได้ เลือกเห็ดที่สด และควรบริโภคทันที

- ไม่ควรเก็บเห็ดไว้นานเพราะอาจมีการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุให้เกิดการเจ็บป่วย

- เลี่ยงการกินเห็ดร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์จะทำให้พิษเห็ดแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว และทำให้อาการรุนแรงขึ้น



ที่มา : กรมควบคุมโรค, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช. – NSTDA)



X