เมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศมักเปลี่ยนไปกะทันหันจนทำให้หลายคนไม่สามารถปรับตัวได้ในทันทีจนเกิดเป็นโรคต่างๆขึ้นมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้งยังเป็นช่วงที่มีฝนตกชุก ลมแรง ทำให้เชื้อโรคหรือฝุ่นละอองต่าง ๆ กระจัดกระจายลอยมากับสายฝน แถมเป็นช่วงเวลาที่พวกสัตว์หรือแมลงที่เป็นพาหะนำโรคเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นสาเหตุที่ทำให้โรคต่างๆในหน้าฝนนั้นระบาดได้ง่ายและรวดเร็วกว่าที่คิด กลุ่มโรคที่สามารถเกิดขึ้นในหน้าฝนแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
1. โรคติดต่อทางเดินหายใจ
โรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ พบได้ตลอดทั้งปี สาเหตุมาจากการสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงฉับพลัน โดยเฉพาะในฤดูฝนและฤดูหนาว อาการของไข้หวัดมักมีอาการในระบบหายใจ เช่น คัดจมูก ไอ จาม เจ็บคอ มีเสมหะ ไข้สูง อ่อนเพลีย
โรคปอดอักเสบ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ปอดทำให้เกิดการอักเสบของถุงลมปอดและเนื้อเยื่อโดยรอบ บางคนสามารถเป็นโรคปอดอักเสบได้โดยไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ เช่น หายใจเอาสารพิษเข้าไปพวกฝุ่น ควันรถ สารเคมี จนเกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ
2.โรคติดต่อจากการสัมผัส
โรคมือ เท้า ปาก พบได้บ่อยในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเตอโรไวรัส อาการส่วนใหญ่มักพบแผลหรือตุ่มในช่องปาก กระพุ้งแก้ม ผื่นแดงตามร่างกายและเกิดตุ่มบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า อาจลามไปถึงแขน ขา หรือก้น ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรงและสามารถหายเองได
โรคเลปโตสไปโรซิส หรือโรคไข้ฉี่หนู มักพบได้ในช่วงฤดูฝน ซึ่งมีหนูเป็นพาหะนำเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Leptospira เข้ามา ยิ่งสภาพแวดล้อมที่ย่ำแย่ในช่วงฤดูฝนแบบนี้ ฝนที่ตกลงมานั้นจะชะล้างเอาเชื้อโรคจากสถานที่ต่างๆและไหลมารวมกันบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง ทำให้เชื้อโรคจากเชื้อปัสสาวะของหนูปะปนกับสิ่งแวดล้อม ทำให้เชื้อสามารถแพร่กระจาย และแบ่งตัวเพิ่มจำนวนอยู่ในบริเวณที่มีน้ำท่วมขังตามดิน โคลน แม่น้ำ ลำคลอง แอ่งน้ำ อาการของโรคฉี่หนูส่วนใหญ่จะเป็นไข้ คลื่นไส้ อาเจียน มีผื่นขึ้นตามผิวหนัง ระคายเคืองตา บางรายอาจหนักถึงมีอาการไอเป็นเลือด
โรคเมลิออยโดสิส ส่วนใหญ่ติดเชื้อจากแบคทีเรียที่ปนเปื้อนในดินและน้ำ มาจากการสัมผัสเชื้อบริเวณผิวหนังที่มีแผลโดยตรงหรือติดต่อมาจากสัตว์ที่ติดเชื้อ เช่น สุนัข แมว วัว ควาย หมู หรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป
3.โรคติดต่อนำโดยยุงลาย
โรคไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (dengue virus) โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค มักระบาดในช่วงฤดูฝนของทุกปี ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเฉียบพลันเกิน 38 องศาเซลเซียส ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก พบจุดแดงเป็นจ้ำเลือดที่ผิวหนัง หากอาการรุนแรงจะเกิดภาวะช็อก เลือดกำเดาไหล ขับถ่ายเป็นเลือดได้
โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือโรคชิคุนกุนยา เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา มียุงลายสวน และยุงลายบ้านเป็นพาหะนำโรค อาการมีความคล้ายคลึงกับโรคไข้เลือดออก มีอาการปวดข้อมาก ตามข้อมือ ข้อเท้า บางรายอาจปวดมากจนข้อบวม ขยับไม่ได้
โรคติดเชื้อไวรัสซิกา สาเหตุหลักของการติดเชื้อการโดนยุงลายที่มีเชื้อไวรัสซิกากัด หรือถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ทารกในครรภ์หรือระหว่างการคลอด ระยะฝักตัวของโณคไข้ซิกาโดยเฉลี่ยอยู่ในช่วง 4-7 วัน อาการที่พบบ่อยจะมีไข้ต่ำๆ มีผื่นแดงตามบริเวณลำตัวและแขนขา เยื่อบุตาอักเสบ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ โดยทั่วไปอาการจะไม่รุนแรง แต่ถ้าหากเป็นในหญิงตั้งครรถ์อาจส่งผลต่อเด็กทารกที่คลอดออกมามีสมองเล็กหรือมีภาวะแทรกซ้อน
วิธีการการป้องกันโรคในฤดูฝน
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง
- รักษาความสะอาดสถานที่อยู่ สวมเสื้อผ้าที่สะอาด
- รักษาร่างกายให้อบอุ่น เพื่อให้ร่างกายมีภูมิต้านทานโรค โดยเฉพาะเด็กกับผู้สูงอายุ
- ควรดื่มน้ำสะอาด และรับประทานอาหารที่ถูกสุขอนามัย
- ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง