Monster Asian Heatwave คือ ภาวะอุณหภูมิสูงสุด เกินค่ามาตรฐานติดต่อกันอย่างน้อย 5 วัน ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมทั่วโลก พืชและสัตว์ล้มตายเสี่ยงสูญพันธ์ สภาพอากาศแปรปรวนหนัก ผู้คนในประเทศแถบเอเชียโดยเฉพาะ อินเดีย, เมียนมา, ไทย, ลาว, เวียดนาม, จีนตอนใต้, ฟิลิปปินส์, เนปาล, บังคลาเทศ, สิงคโปร์ ฯลฯ เสียชีวิตจากโรคลมแดด (ฮีสโตรก) จำนวนมาก
ในปี 2566 นี้ ทวีปเอเชียประสบปัญหากับคลื่นความร้อนเดือนเมษายนที่เลวร้ายที่สุด ในประวัติศาสตร์ ยกตัวอย่างประเทศไทยช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาพบอุณหภูมิสูงสุด 44.6 องศาเซลเซียสในจังหวัดตาก ไม่ต่างจากในกรุงเทพและปริมณฑลที่มีอุณหภูมิสูงแตะ 40 องศาเซลเซียส นี่ยังถือว่าเป็นแค่จุดเริ่มต้นของอากาศร้อนที่จะส่งผลต่อไปอย่างยาวนาน อาจถึงขั้นรุนแรงขึ้นจากปรากฎการณ์เอลนีโญที่จะเกิดขึ้นในปลายปี 2566
จากข้อมูลขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorology Organization) หรือ WMO คาดการณ์แนวโน้มที่โลกจะเผชิญกับปรากฎการณ์เอลนีโญในปลายปีนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ภายในเดือนกรกฎาคมนี้อุณหภูมิจะสูงขึ้นกว่าปกติประมาณ 1.5 องศา อาจเกิดเอลนีโญ 60% และภายในเดือนกันยายนจนถึงมกราคมปี 2567 อาจเพิ่มสูงขึ้นเป็น 70%-80%
ปรากฎการณ์ความร้อนในครั้งนี้ประเทศไทยไม่ได้นิ่งนอนใจ กรมอุตุนิยมวิทยาได้ร่วมมือกับหลายภาคส่วน ทั้งกรมชลประธาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานอื่นๆ เร่งรับมือช่วยกันหาทางแก้ไข เร่งรัดให้ทุกภาคส่วนทำงานกันเป็นระบบส่งต่อกันเป็นทอดๆเพื่อดำเนินแผนการรับมือให้ทันก่อนเกิดปรากฎการณ์ “เอลนีโญ” ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์ได้อย่างใกล้ชิดเพื่อเตรียมตนเองให้พร้อม โดยเฉพาะเกษตรกรไทยที่ต้องวางแผนกักเก็บน้ำในช่วงฝนตกน้อยกว่าปกติ (ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป)