องค์การอนามัยโลกประกาศแจ้งเตือนทั่วโลกถึง ไวรัสอันตราย“มาร์บวร์ก” ที่เกิดการระบาดขึ้นในประเทศอิเควทอเรียลกินี (Equatorial Guinea) แถบชายฝั่งตะวันตกของแอฟฟริกากลาง จากการรายงานพบว่ามีผู้เสียชีวิต 9 ราย และผู้ต้องสงสัย 16 ราย
สาเหตุมาจากผู้เสียชีวิตทั้ง 9 รายได้เข้าร่วมงานศพ โดยจัดพิธีศพตามประเพณีในแอฟริกาตะวันตก มีการจูบและสัมผัสศพ โดย ณ เวลานั้นไม่มีใครทราบถึงสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริงของผู้ตาย จากนั้นไม่กี่วันผู้เสียชีวิตทั้ง 9 ราย เริ่มมีอาการติดเชื้อและเสียชีวิตในเวลาต่อมา
โรค “ไวรัสมาร์บวร์ก” เป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดไข้เลือดออกรุนแรงในมนุษย์และลิงหลายประเภท สามารถติดต่อและแพร่ระบาดได้ง่าย เป็นไวรัสที่อยู่ในตระกูล ฟิโลวิริแด (Filoviridae) ซึ่งเป็นตระกูลเดียวกับ ไวรัสอีโบลา โดยอัตราการเสียชีวิตของโรคมาร์กบวร์กในการระบาดครั้งก่อนในประเทศกานาสูงถึงร้อยละ 88 ตามรายงานขององค์การอนามัยโลก
ไวรัสมาร์บวร์กเกิดการระบาดครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2010 ในห้องทดลองในเมืองมาร์บวร์กและเมืองแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี และในกรุงเบลเกรด ประเทศยูโกสลาเวีย (ปัจจุบันคือประเทศเซอร์เบีย) จากรายงานผู้เสียชีวิตในครั้งนั้นพบว่า ผู้เสียชีวิตได้สัมผัสกับลิงเขียวแอฟริกา (African green monkey) ที่นำเข้าจากประเทศอูกันดา หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2548 ในประเทศแองโกลา พบผู้ติดเชื้อ 374 ราย และเสียชีวิตมากถึง 329 ราย กรณีไวรัสมาร์บวร์กนั้น ค้างคาวเป็นรังโรค (reservoir) โดยการแพร่เชื้อติดต่อมาสู่ลิง สัตว์เลือดอุ่น เช่นหมู และคนโดยการสัมผัสสารคัดหลั่ง
อาการติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์กจะแสดงออกโดยฉับพลัน ระยะฟักตัวของไวรัสอยู่ที่ 2 – 12 วัน
- เริ่มมีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง
- มีอาการหนาวสั่น เจ็บกล้ามเนื้อ เป็นตระคริว
- คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย
- อาจพบผื่นบริเวณหน้าอก หลัง หรือท้อง
- มีเลือดออก เสียเลือดและตกเลือดภายใน
- อาจรุนแรงจนส่งผลให้อวัยวะหลายส่วนทำงานล้มเหลว
องค์การอนามัยโลกบรรยายลักษณะการติดเชื้อที่รุนแรงหลังวันที่ 5 ของผู้ป่วยติดเชื้อ จะมีลักษณะคล้ายผี (Ghost-like) ดวงตากลวงลึก (เนื่องจากเสียน้ำ) ใบหน้าซีด (เนื่องจากเสียเลือด) ไร้ความรู้สึก มีอาการหมดเรี่ยวแรงและง่วงนอนตลอดเวลา
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนหรือยาต้านไวรัสที่ได้รับอนุญาตให้ใช้รักษาผู้ติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์กโดยเฉพาะ ใช้วิธีรักษาแบบประคับประคองตามอาการ เช่น การให้น้ำกลับคืนด้วยสารน้ำทางปากหรือทางหลอดเลือดดำ การรักษาระดับออกซิเจน การใช้ยาบำบัดตามอาการ สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ หากผู้ป่วยติดเชื้อในพื้นที่ห่างไกล ไม่มีอุปกรณ์ในการรักษา อาจเสียชีวิตระหว่างวันที่ 8 หรือวันที่ 9 หลังจากเริ่มมีอาการ เนื่องจากการเสียเลือดและตกเลือดอย่างรุนแรง ร่วมกับการทำงานที่ล้มเหลวของอวัยวะหลายส่วน
ที่มา : Center for Medical Genomics