9 FURURE OF WORK 2023 อัปเดต 9 เทรนด์การทำงานของคนยุคใหม่

13 มกราคม 2566, 14:44น.


      ในปัจจุบันโลกของการทำงานมีการแข่งขันที่สูงขึ้นอยู่ตลอดเวลา หากอยากได้งานที่ตอบโจทย์ความต้องการของตัวเอง การพัฒนาตัวเองให้มีหลาย Multi skill นั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนควรที่จะมีติดตัวไว้ หลังจากที่ผ่านสถานการณ์โควิด 19 มาได้ มุมมองการทำงานหลายๆบริษัทเริ่มเปลี่ยนไป จากที่ต้องการพนักงานที่เชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่งมาพัฒนาบริษัทให้เติบโตขึ้น กลับกลายเป็นต้องการพนักงานที่สามารถทำงานได้หลากหลายด้านมากกว่าแต่อาจจะไม่ได้เก่งจนเชี่ยวชาญ ซึ่งในปีนี้ Gartner ได้ออกมาอัปเดตเทรนด์การทำงาน 2023 ซึ่งแตกต่างจากเทรนด์การทำงาน 2022 อยู่หลายข้อและมีเพิ่มเติมเทรนด์ใหม่ๆที่เหมาะสมกับคนทำงานในปีนี้ จะมีอะไรบ้าง ไปดูกัน

เทรนด์ที่ 1 : Quiet hiring นำเสนอวิธีการและทักษะใหม่ให้องค์กรโดยไม่ต้องจ้างพนักงานใหม่

      การ quiet hiring คือ การจัดลำดับตำแหน่งที่สำคัญกับบริษัทมากที่สุด จากนั้นก็โยกย้ายพนักงานไปทำตำแหน่งที่สำคัญกว่าก่อน เช่น การขอให้คนทำงานในระดับสูงมาช่วยงานในระดับเริ่มต้น เป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกันโดยไม่ต้องคำนึงถึงตำแหน่ง ซึ่งอาจจะไม่ใช่การทำอย่างถาวร แต่เป็นการผสมผสานบทบาทหน้าที่ เพื่อให้ได้ความรู้ความสามารถใหม่ๆ โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มพนักงานใหม่แต่ผลักดันให้คนในองค์กรได้ทำหน้าที่อื่นๆดูเพื่อเพิ่มทักษะ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นหลายแง่มุมที่สำคัญ คือ

- ให้ความสำคัญกับการเคลื่อนย้ายบุคลากรภายในองค์กร เพื่อให้มั่นใจว่าพนักงานนั้นจะสามารถจัดลำดับความสำคัญที่สำคัญที่สุดโดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนจำนวนพนักงาน

- ขยับขยายและยกระดับความสามารถ ทักษะ และโอกาสให้กับพนักงานปัจจุบันในองค์กร ในขณะที่ตอบสนองความต้องการขององค์กรที่เปลี่ยนแปลงไป

- ใช้วิธีการอื่นๆ เช่น การใช้เครือข่ายศิษย์เก่า และพนักงานชั่วคราว เพื่อนำผู้ที่มีความสามรถเข้ามาอย่างยืดหยุ่นเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

เทรนด์ที่ 2 : Hybrid flexibility for the front lines ความยืดหยุ่นของการทำงานแบบไฮบริดขึ้นมาถึงแนวหน้า

      เมื่อเราก้าวเข้าสู่การทำงานแบบ hybrid ที่ถาวรมากขึ้นทั้งการทำงานแบบนั่งในออฟฟิศและการทำงานแบบ Work from home ถึงเวลาแล้วที่หลายๆองค์กรต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานที่ให้อิสระกับพนักงานมากขึ้นและหาความยืดหยุ่นที่เท่าเทียมกันสำหรับพนักงานแนวหน้า เช่น พนักงานในอุตสาหกรรมการผลิตและการดูแลสุขภาพ จากผลการสำรวจของ Gartner First Line Employee Experience Rejuvenation Survey ในปี 2022 พบว่า 58% ขององค์กรที่มีการจ้างงาน พนักงานแนวหน้าและได้ลงทุนในการปรับปรุงประสบการณ์ของพนักงานในปีที่ผ่านมา ประมาณ 1 ใน 3 จะไม่ทำเช่นนี้ในอีก 12 เดือนข้างหน้า ในขณะที่องค์กรต่างๆเริ่มมองหาความยืดหยุ่นให้แก่พนักงาน เช่น

- การควบคุมตารางการทำงานแอง

- วันหยุดยังคงได้รับค่าจ้าง

- ความมั่นคงของความก้าวหน้าในการทำงาน

      พนักงานระดับแนวหน้ายังแสดงความสนใจในความยืดหยุ่นประเภทอื่นๆ เช่น เนื้อหางานของพวกเขา พวกเขาจะทำงานกับใคร และปริมาณงานที่ได้รับ ซึ่งการที่ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานแบบนี้ส่งผลดีต่อตัวพนักงาน อีกทั้งยังส่งเสริมให้องค์กรได้เติบโตอย่างมีคุณภาพ

เทรนด์ที่ 3 : Alleviate pressure on managers ลดความตึงเครียดและความกดดัน

      สภาพแวดล้อมการทำงานในปัจจุบันมีการแข่งขันที่สูงมาก ทำให้เหล่ามนุษย์ทำงานหลายๆคนต้องประสบกับปัญหามากมายและรับแรงกดดันทั้งในองค์กรและนอกองค์กร เพราะฉะนั้นการใช้กลยุทธ์องค์กรโดยคำนึงถึงการทำงานแบบ hybrid ทำให้รู้สึกถึงเป้าหมาย ความยืดหยุ่น และโอกาสในการทำงานมากขึ้น การมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกัน

เทรนด์ที่ 4 : Pursue non-traditional candidates มองหาผู้สมัครที่ไม่ใช่แบบดั้งเดิม เพื่อขยายช่องทางให้ผู้ที่มีความสามารถได้นำเสนอตัวเอง

      หลายปีที่ผ่านมา องค์กรต่างๆ ได้มองหาพนักงานใหม่ๆโดยใช้วิธีการแบบดั้งเดิม โดยอาศัยความรู้และประสบการณ์ของผู้สมัครงานที่ส่งใบสมัครมาเพื่อให้องค์กรได้พิจารณา ซึ่งวิธีการมองหาพนักงานในรูปแบบนี้ในปัจจุบันหลายองค์กรมองว่าวิธีการหาพนักงานใหม่แบบนี้เป็นวิธีที่ล้าหลัง เพราะการที่มองดูความสามารถจากใบสมัครของพวกเขาอย่างเดียวนั้นไม่สามารถวัดระดับความสามารถที่แท้จริงได้ ต้องให้พวกเขาได้ทดลองและลงมือทำให้เห็นจริงๆ สิ่งนี้จะช่วยให้เราหาพนักงานใหม่ที่เหมาะสมกับองค์กรมากกว่า

เทรนด์ที่ 5 : Address employee mental well-being การรักษาบาดแผลและการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตของพนักงาน

      เนื่องจากความวุ่นวายทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองที่ผ่านมา คนส่วนใหญ่รวมถึงคนทำงานในปัจจุบัน กำลังเผชิญกับความท้าทายด้านสุขภาพจิต สิ่งเหล่านี้อาจส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ในขณะเดียวกันก็จะเพิ่มการระเบิดของความโกรธ อาจลาออกโดยไม่แจ้งให้ใครทราบ เกิดความขัดแย้งในที่ทำงาน และการด้อยประสิทธิภาพอย่างกะทันหัน การประเมินสภาพจิตใจของพนักงานจึงเป็นสิ่งสำคัญ และเป็นส่วนช่วยที่จะทำให้พนักงานกลับมามีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นได้ อาจจัดพื้นที่ให้คำปรึกษา ขอคำแนะนำจากแพทย์หรือจัดกิจกรรมนันทนาการยามว่างเพื่อลดความตึงเครียดจากการทำงาน

เทรนด์ที่ 6 : Move DEI forward despite resistance ผลักดันให้ DEI เดินหน้าต่อแม้จะโดนต่อต้าน  

      DEI คือ Diversity, Equity และ Inclusion หมายถึง ความเสมอภาค ความหลากหลาย ไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทการทำงานแบบไหน ทั้งความหลากหลายทางเพศของพนักงานในองค์กร สภาพร่างกาย อายุ เชื้อชาติ สีผิว ทุกคนก็สำควรที่จะได้รับความใส่ใจและให้ความสำคัญอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ควรให้ใครรู้สึกแปลกแยกจากคนอื่น เทรนด์นี้ได้รับความนิยมในต่างประเทศหลายๆประเทศ และเริ่มใช้กันมากขึ้นเพราะสามารถทำให้ทุกคนมีความสุขในการทำงาน บทบาทวิชาชีพ และหน้าที่ความรับผิดชอบตนเองได้อย่างดี

เทรนด์ 7: Tackle employee data privacy การแก้ปัญหาความเป็นส่วนตัวของข้อมูลพนักงาน

      องค์กรต่างๆ กำลังใช้เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น AI Assistant, Wearable Devices, ฯลฯ เพื่อรวบรวมข้อมูลของพนักงาน รวมไปถึง สถานการณ์ครอบครัว สภาพความเป็นอยู่ สุขภาพจิต และแม้กระทั่งรูปแบบการนอนหลับ เพื่อตอบสนองความต้องการของพนักงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่สิ่งนี้อาจทำให้เกิดวิกฤตความเป็นส่วนตัวที่ใกล้เข้ามา เพราะความสามารถทางเทคโนโลยีขยายตัวเร็วกว่า อาจทำให้เกิดข้อผิดพลาดและเกิดข้อมูลรั่วไหลได้ หากแต่ว่าองค์กรสามารถเก็บข้อมูลทุกอย่างของพนักงานด้วยความโปร่งใสและไม่นำไปเผยแพร่ และสามารถทำให้พวกเขายอมรับว่าองค์กรสามารถปกป้องความเป็นส่วนตัวของพวกเขาได้

เทรนด์ที่ 8 Mitigate bias in recruiting algorithms ลดอคติที่มีต่ออัลกอริทึมในการสรรหาบุคลากรที่เหมาะสม

      เมื่อองค์กรต่าง ๆ เริ่มใช้ AI ในการสรรหาบุคลากรมากขึ้น เป็นสิ่งที่ดีในการคัดสรรคนที่เหมาะสมกับองค์กร แต่ผลกระทบนั้นก็มีเช่นกัน ทั้งทางจริยธรรมของการปฏิบัติ ความเป็นธรรม ความหลากหลาย การมีส่วนร่วม และความเป็นส่วนตัว องค์กรที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ Machine learning นั้นต้องทำด้วยความโปร่งใส  เกี่ยวกับวิธีการใช้ปัญญาประดิษฐ์ เปิดการตรวจสอบข้อมูล เพื่อลดอคติของคนส่วนใหญ่ที่มีต่อเทคโนโลยีพวกนี้

เทรนด์ที่ 9 : Confront Gen Z soft skills gap ช่องว่างทักษะของคนเจน Z เผยให้เห็นการพังทลายของทักษะทางสังคม

      ความโดดเดี่ยวทางสังคมที่เกิดจากการระบาดใหญ่ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อคนหนุ่มสาววัย Generation Z ตั้งแต่มีสถานการณ์โควิด 19 เข้ามา ทำให้อัตราการว่างงานเพิ่มมากขึ้น หาอาชีพที่เหมาะสมได้ยากขึ้น และไม่ตรงต่อความต้องการ ทำให้ต้องเลือกทำงานที่ไม่ถนัดและฝืนทำไปอย่างไม่เต็มใจ เพียงเพราะไม่มีตำแหน่งงานที่ตรงต่อความต้องการ สิ่งนี้ส่งผลเสียต่อองค์กรอย่างมากโดยเฉพาะในภาวะตลาดแรงงานตึงตัวที่ต้องการจ้างคนในจำนวนเงินที่ลดลง งานเดือนเริ่มต้นของเด็กจบใหม่จึงน้อยลงกว่าปีที่ผ่านมา แต่นี่ไม่ใช่แค่ Gen Z เท่านั้นที่มีปัญหา จากการสำรวจตั้งแต่ปี 2020 ทักษะทางสังคมของทุกคนถูกกัดกร่อน ความเบื่อหน่ายผสมกับความเหนื่อยล้าและความไม่มั่นคงในอาชีพ ทั้งหมดนี้ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด 19 สิ่งหนึ่งที่สำคัญและควรปรับเปลี่ยนในปี 2023 นี้ คือตัวองค์กรเองต้องเข้าใจถึงปัญหาและใส่ใจด้านสุขภาพจิตของพนักงานให้มากขึ้น



ที่มา : Gartner



X